กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

บทความ โครงการพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถักทอชีวิตชายแดนด้วย ‘ศิลปาชีพ’

Release Date : 16-08-2023 00:00:00
บทความ โครงการพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ถักทอชีวิตชายแดนด้วย ‘ศิลปาชีพ’

พระพันปีหลวงของแผ่นดิน ถักทอชีวิตชายแดนด้วย ‘ศิลปาชีพ’

ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาตั้งแต่เมื่อ ๖๐ ปีก่อน ส่งผลต่อโครงการตามแนวพระราชดำริเกือบ ๕,๐๐๐ แห่ง

ผืนดินที่แห้งแล้ง กันดาร ขาดน้ำ ไร้ที่ดินทำกิน บนพื้นที่สูง หรือชายแดน ขาดแคลน-ขัดสน ล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณถ้วนหน้า กว่า ๔ ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อถึงคราวาระวันมหามงคล ๑๒ สิงหาคมของทุกปี จะมีประชาชนจากชายแดนเหนือจดชายแดนใต้ พื้นที่ราบสูง-ราบต่ำ รวมตัวกันพร้อมหน้า ณ ศาลาดุสิดาลัย เพื่อเฝ้าชมพระบารมี “พระแม่แห่งแผ่นดิน” ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ที่จะดำรงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาสู่งานผ้าไหม จักสาน-ปัก ถักและทอ ก่อตัวเป็น “งานศิลปาชีพ” ที่งดงาม

ทรงรับซื้องานหัตกรรมจากชาวบ้านในพื้นที่ส่งเสริมด้วยราคาที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าและภูมิปัญญาของชิ้นงาน เพื่อพระราชทานกำลังใจแก่ผู้ผลิตงานศิลปะพื้นบ้านทุกรูปแบบ

“อย่ามาพูดเรื่องกำไรขาดทุนกับฉันนะ ฉันต้องการให้คนจนมีงานทำมาก ๆ ขาดทุนของฉัน คือกำไรของแผ่นดิน” คือพระราชเสาวนีย์ของพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตรัสตอบผู้ถวายงาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินติดตามงานในฟาร์มตัวอย่าง ที่บ้านขุนแตะ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งนั้น “ผู้ถวายงานในโครงการฟาร์มตัวอย่างกราบบังคมทูลว่า ได้จ้างชาวเขามาทำงานในฟาร์มตัวอย่างที่เพียง ๔๐ คน ถ้าจ้างคนงานมาก ๆ อาจต้องขาดทุน เพราะผลผลิตยังน้อยอยู่” 

เช่นเดียวกับพื้นที่ทรงงาน “ศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ งานศิลปาชีพเสริมความมั่นคงชายแดน” ที่บ้านพุระกำ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่ตั้งอยู่บริเวณโครงการสวนป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ติดแนวชายแดนประเทศเมียนมา

ด้วยพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเห็นว่าในเวลานั้น “พื้นที่สวนผึ้งเป็นพื้นที่ติดชายแดนพม่า จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้ราษฎรในบริเวณพื้นที่มีอาชีพ มีรายได้พอเพียง ไม่ให้ย้ายถิ่น เขาจะได้   เป็นหู  เป็นตา ให้ประเทศไทยต่อไป” 

ทรงมีพระราชปณิธานที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในหมู่บ้านพุระกำมีอาชีพ ที่สามารถสร้างรายได้ สร้างความสุข บนแนวทางแห่งความยั่งยืน ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖

 

 

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นำสื่อมวลชนไปสนทนากับสมาชิกศิลปาชีพบ้านพุระกำกว่า ๑๑๖ ชีวิต ครอบคลุม ๔ หมู่ คือบ้านพุระกำ บ้านห้วยม่วง บ้านห้วยน้ำหนัก และบ้านหนองตาดั้งภายใต้ร่มพระบารมี ที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านพุระกำ ตามแนวพระราชดำริแห่งนี้ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับสั่งให้ชาวบ้านหญิง - ชาย ได้ทำงานปั่นด้าย สาวไหม-ทอผ้า ปักเย็บ และปั้นเซรามิก เพื่อสร้างทั้งรายได้หลัก รายได้เสริม ตามความถนัด โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา

สมาชิกหญิง-ชาย ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวถึงวัยกลางคนจะได้ค่าผลงานที่ปัก-ถัก-ทอ และสาน-ปั้น เป็นส่วนแบ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับชิ้นงาน ซึ่งบางชิ้นราคาหลักหมื่นบาท นอกเหนือจากที่ได้ค่าจ้างรายวันวันละ ๑๒๐-๑๘๐ บาท

งานปักผ้าลายวิจิตรและเส้นด้ายที่ละเอียดยิบกว่าหมื่นเส้น ขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๓๐ เซนติเมตร ๑ ผืนใช้เวลาปักราว ๓ เดือน กว่าจะเดินทางมาถึงสวนจิตรลดา ราคางานศิลปาชีพทุกชิ้น หากเห็นที่มากว่าจะเป็นชิ้นงานแล้ว นับว่าราคาสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

 

นางนฤมล จอมี ชาวกะเหรี่ยงในแผนกทอผ้าบอกว่า “อยู่ในศูนย์ศิลปาชีพแห่งนี้มากว่า ๑๕ ปี การทอผ้าทำให้ ยังได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ไม่ต้องไปรับจ้างในอำเภอสวนผึ้ง มีรายได้ทั้งเงินรายวัน และทอผ้าไหมผืนหนึ่งยาว ๒ เมตร ใช้เวลาทอราว ๓ - ๔ เดือน เมื่อนำส่งที่ศูนย์ศิลปาชีพ จะได้ส่วนแบ่งค่าชิ้นงานราว ๓,๕๐๐-๕,๐๐๐ บาท” 

เช่นเดียวกับ นางปั๊ว เชิดฉาย วัย ๕๘ ปี เล่าว่า เธอเป็นคนไทยสวนผึ้งตั้งแต่กำเนิด ทำงานในโครงการศิลปาชีพในส่วนของงานจักสาน ทำกระเป๋าและตะกร้าลายพิกุล และลายพิกุลยกดอก ทำงานจะได้รายวัน ๑๖๐ บาท และได้ค่าส่วนแบ่ง ๘๐๐ บาทต่อกระเป๋า ๑ ใบ ส่งงานในแต่ละงวดจะได้เงินราว ๔,๐๐๐ บาท

ผู้สื่อข่าวและคณะดูงานจากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้พบกับชายร่างเล็กวัย ๔๐ ปีที่เห็นทั่วไป เขาชื่อ นายแง โดโบ๊ะ เป็นชาวกะเหรี่ยงโพล่ง เล่าว่า “ผมเองเป็นคนรูปร่างเล็ก ทำให้ไม่มีใครจ้างงาน มาสมัครในกลุ่มเครื่องจักสาน โดยมีครูมาสอนและทดสอบ เมื่อผ่านขั้นตอนจึงได้อยู่ในกลุ่มเครื่องจักสานนี้ ชอบทำงานนี้” เขาบอกว่า “พูดไทยไม่ค่อยได้ แต่ก็พอสื่อสารได้ ดีใจเวลามีคนไทยมาดูงานเพราะจะได้มีคนพูดคุยด้วย” 

ชิ้นงานของเขาคือตะกร้าสานไผ่ละเอียด ขนาดเล็ก สำหรับเป็นกระเป๋าถือหรือใส่เครื่องประดับแต่ละชิ้นได้ค่าส่วนแบ่งประมาณ ๖๐๐ บาทต่อชิ้น ใช้เวลาสร้างสรรค์งาน ๒ - ๓ เดือน เมื่อครบงวดส่งงาน เขาจะได้เงินส่วนแบ่งรายได้กว่า ๕,๐๐๐ บาท

จุดกำเนิดของโครงการศิลปาชีพบ้านพุระกำ เกิดขึ้นจากเมื่อครั้งเสด็จแปรพระราชฐานมาในพื้นที่บ้านห้วยม่วง อ.สวนผึ้ง มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นพรมแดนธรรมชาติ ทรงเห็นความทุกข์ยากของราษฎร

ทรงมีพระราชเสาวนีย์ว่า “พื้นที่แถบนี้น่าจะมีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าเพิ่มขึ้น เพื่อหาอาชีพเสริมให้กับราษฎรในพื้นที่หลังเก็บเกี่ยวพืชไร่”

 

จากนั้นในวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๐ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองตาดั้ง ขึ้นเป็นหมู่บ้านแรก ตามด้วยบ้านพุระกำ บ้านห้วยน้ำหนัก และส่งเสริมการทำเครื่องจักสาน

 

นอกจากนั้นได้ทรงมีพระราชประสงค์ให้ฝึกชาวบ้านในการทำเครื่องปั้นดินเผาให้คงศิลปะแบบพื้นบ้านเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่น โดยพระราชทานทรัพย์สำหรับการดำเนินการทั้งหมด เช่น การสร้างสถานที่ฝึก อุปกรณ์การสอน รวมทั้งครูฝึก

 

โครงการศิลปาชีพแห่งนี้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎร ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงให้มีอาชีพเสริมหลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่ เพื่อลดการล่าสัตว์ การบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งในปี ๒๕๔๓ ทรงรับสั่งให้มีการช่วยเหลือราษฎรในการสร้างแหล่งอาหารเพื่อความยั่งยืน โดยทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้กรมประมงส่งเสริมทั้งการเลี้ยงปลา และให้บ้านหนองตาดั้งเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเป็นแหล่งอาหาร

ปัจจุบันพื้นที่นี้จึงมีทั้งธนาคารข้าว ธนาคารอาหาร โรงเรียนควาย และธนาคารควาย เพื่อเป็นส่วนในการส่งเสริมการทำนาแบบดั้งเดิมให้กับคนในพื้นที่

หล่งที่มา https://www.prachachat.net/csr-hr/news-359592