กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

บทความ วันจักรี ๖ เมษายน ประวัติวันจักรี วันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์

Release Date : 01-04-2023 00:00:00
บทความ  วันจักรี ๖ เมษายน ประวัติวันจักรี วันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์

วันจักรี (Chakri Memorial Day) ตรงกับวันที่ ๖ เมษายนของทุกปี อันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรีในวันนี้ จึงถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่พวกเราชาวไทยควรให้ความระลึกถึง กว่าจะมาเป็นไทยได้ในปัจจุบัน

ความสำคัญของวันจักรี

วันจักรี (Chakri Memorial Day) คือ วันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์   เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้งยังเริ่มก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ ที่นับว่าเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ถัดจากกรุงธนบุรี ซึ่งเมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น มีอาณาบริเวณรวมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เป็นเมืองหลวงที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามใหม่ จาก กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ เป็น กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ มักเรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกันกับที่เคยเรียกยุคสมัยที่ผ่านมาในสยาม โดยพระเจ้าแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ ได้สืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องกันมาในราชวงศ์เดียวกันจนถึงปัจจุบัน มี ๑๐ รัชกาล รวมระยะเวลาแล้วกว่า ๒๓๙ ปี

 

จากบันทึกตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  

ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ ๔ พระองค์ (รัชกาลที่ ๑ – รัชกาลที่ ๔) ขึ้นประดิษฐานเอาไว้สำหรับให้พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ ไป ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปได้ถวายความเคารพสักการะ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละหนึ่งครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนสถานที่ประดิษฐานหลายต่อหลายครั้ง จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้ายพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ ๔ พระองค์มาไว้ ณ ปราสาทเทพบิดรภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๕ พระชนกนาถ ซึ่งพระที่นั่งสำหรับประดิษฐานพระบรมรูปองค์นี้ รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดให้ซ่อมแซมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานพระนามว่า ปราสาทเทพบิดร โดยได้มีการซ่อมแซ่มและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาล แล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปขึ้นในวันที่ ๖ เมษายนปีเดียวกัน อีกทั้งยังโปรดให้เรียกวันที่ ๖ เมษายนนี้ว่า วันจักรี

กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติในวันจักรี

เนื่องในวันจักรี ๖ เมษายนของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ จะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ไปเป็นประธานในพิธีทางศาสนาประกอบการบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถ และจะทรงสักการะพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ ณ ปราสาทเทพบิดรวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อจากนั้นจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ชานชาลาเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นิสิต นักศึกษา หน่วยงานรัฐบาลและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปจากทุกสาขาอาชีพ ต่างพร้อมใจกันเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลให้กับพระมหากษัตริย์ ผู้ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความสงบสุขของอาณาประชาราษฎรอย่างแท้จริง

 นอกจากนั้น ในวันที่ ๖ เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีของทุกปี รัฐบาลยังได้ประกาศเป็น วันหยุดราชการ  แต่หากในปีใดที่วันจักรีตรงกับวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ก็ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการวันต่อไป

 

แหล่งที่มา http://event.sanook.com/day/chakriday/