กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

บทความ วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๓๑ มีนาคม ของทุกปี

Release Date : 16-03-2023 00:00:00
บทความ วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๓๑ มีนาคม ของทุกปี

วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๓๑ มีนาคม ของทุกปี พร้อมประวัติและความสำคัญ

วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรงกับวันที่ ๓๑ มีนาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า หรือวันมหาเจษฎาบดินทร์ โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

ประวัติวันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)

คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๕ ให้วันที่ ๓๑ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ “วันเจษฎา” เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์

พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ ๓  เสวยราชสมบัติทั้งหมด ๒๗ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๖๗ - ๒๓๙๔

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ ณ วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๓๐ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระองค์แรกที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม ธิดาพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน ภายหลังรัชกาลที่ ๓ จึงทรงสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี เพื่อถวายพระอัยกา พระอัยกี และสมเด็จพระราชชนนี ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุททร เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ หม่อมเจ้าชายทับ จึงได้รับพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ และภายหลังที่พระชนกนาถได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. ๒๓๕๒ พระองค์ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๕๖

กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เสด็จขึ้นครองราชย์วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ ตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๓ คือรูปปราสาท พระนามเต็มตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไสย สมุทัยดโรมน สากลจักรวาลาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาธิบดี ศรีสุวิบูลย คุณอถพิษฐ ฤทธิราเมศวร ธรรมิกราชาธิราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิมงกุฎประเทศคตา มหาพุทธางกูร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว"

 

พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงกำกับดูแลงานกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความตามฎีกา

กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ทรงแต่งสำเภาออกไปค้าขายกับต่างประเทศจนมีรายได้เข้าท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก กระทั่งสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงเรียกพระองค์ว่า “เจ้าสัว” เมื่อทรงขึ้นครองราช รัชกาลที่ ๓ ทรงปกครองบ้านเมืองอย่างเข้มแข็ง และเพิ่มพูนรายได้ของประเทศด้วยการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ๓๘ อย่าง เพื่อลดความขาดแคลนเหมือนเมื่อครั้งก่อน และเพิ่มงบประมาณในการป้องกันประเทศ สร้างกองทัพเรือ ขุดคลอง และสร้างป้อมปราการในจุดปากน้ำสำคัญ พร้อมทำนุบำรุงประเทศไปพร้อม ๆ กัน

ในช่วงรัชสมัยของพระองค์ได้เก็บภาษีต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาก จึงนำมาทำนุบำรุงศาสนา บ้านเมือง เมื่อพระองค์สวรรคต มีเงินเหลือจากการใช้จ่ายของแผ่นดินอยู่ ๔๐,๐๐๐ ชั่ง ทรงมีพระราชปรารภให้ใช้ทำนุบำรุงรักษาวัดที่เสียหายมานับแต่เสียกรุงให้อยุธยาแต่ก่อน จำนวน ๑๐,๐๐๐ ชั่ง และอีก ๓๐,๐๐๐ ชั่ง โปรดให้รักษาไว้เป็นค่าใช้จ่ายของแผ่นดินต่อไปในอนาคต จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ทรงนำมาใช้กอบกู้ประเทศให้พ้นวิกฤติข้อพิพาทกับฝรั่งเศส (เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒) เรียกเงินก้อนนั้นว่า เงินถุงแดง

 

พระราชสมัญญานามของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

- พระมหาเจษฎาธิราชเจ้า

- พระบิดาแห่งการค้าไทย

- พระบิดาแห่งการพาณิชย์นาวีไทย

- พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย

สถานที่ระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดราชนัดดา กรุงเทพมหานคร

 

วัดราชนัดดา ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดราชนัดดาได้รับการทำนุบำรุงและก่อสร้างโลหะปราสาทตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ได้รับการบูรณะหลายครั้งจนสร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๖

ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ กรุงเทพมหานคร

 

ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตรงข้ามกับป้อมมหากาฬ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร เดิมพื้นที่ละแวกนี้ถูกบดบังด้วยโรงภาพยนตร์ ภายหลังคณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ได้เสนอให้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมโดยรอบโลหะปราสาท วัดราชนัดดา จึงได้มีมติจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ และพื้นที่กว้างบริเวณนี้ได้สร้างเป็นลานพลับพลาเพื่อใช้ต้อนรับราชอาคันตุกะ หรือประมุขของประเทศต่าง ๆ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ คณะกรรมการจึงได้กราบบังคมทูลฯ อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์และสวนสาธารณะ ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

วัดจอมทอง วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

 

วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร หรือวัดจอมทอง ตั้งอยู่ในแขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง เป็นวัดที่มีมาอยู่ก่อนสร้างเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงทำพิธีเบิกโขลนทวาร เพื่อให้รบชนะพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ ทรงอธิษฐานให้ได้ชัยชนะ พม่ายกทัพกลับ พระองค์จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ และถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร

วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี

 

พระพุทธรูปพระประทานในพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหารเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยทองแดงทั้งองค์ จากการขุดแร่ทองแดงที่อำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา พระพุทธรูปทองแดงนี้สร้างคู่กับพระประทานวัดราชนัดดา รัชกาลที่ ๔ ถวายพระนามพระประทานว่า “พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา”

สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ จังหวัดนนทบุรี