กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

บทความ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ ๙ “น้ำคือชีวิต”

Release Date : 16-02-2023 00:00:00
บทความ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ ๙ “น้ำคือชีวิต”

การจัดการทรัพยากรน้ำ : น้ำคือชีวิต

พระปรีชาในหลวงรัชกาลที่ ๙  นำสิ่งแวดล้อม สร้างทางสู่ความยั่งยืน

ความเจริญก้าวหน้าในปัจจุบันทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมและสภาวะโลกร้อน ได้ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติที่โลกสะสมไว้นับเป็นเวลาหลายพันล้านปีถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงพิษภัยแห่งหายนะดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภัยจากการขาดแคลนน้ำ อันเป็นเครื่องมือหล่อเลี้ยงชีวิตทุกชีวิตบนโลกใบนี้ 

 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริในการบำรุงรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอย่างการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check Dam) การปลูกป่าต้นน้ำบนพื้นที่สูง 

และทรงประยุกต์ใช้การผสานเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เพื่อศึกษา วิจัย ทดลอง และพัฒนาเทคนิควิธีการต่าง ๆ ร่วมกับคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ในการคิดค้นแนวทางบรรเทาทุกข์ภัยให้แก่ราษฎร

 

ดังเช่นโครงการฝนหลวง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๘ ระหว่างที่เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

ทรงตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่บริเวณนั้นมีแต่ฝุ่นฟุ้ง มีความแห้งแล้งมาก แต่ท้องฟ้ากลับมีเมฆปกคลุม   เต็มไปหมด จึงทรงคิดจะ “ดึงเมฆ” ลงมาเพื่อทำให้เกิดฝน ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีที่ทรงเคยศึกษามา

หลังจากนั้นถึง ๑๔ ปี หรือใน พ.ศ. ๒๕๑๒ “โครงการฝนหลวง” จึงปรากฏผลสัมฤทธิ์ โดยมีการปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆในท้องฟ้าเหนือภาคพื้นดินเป็นครั้งแรก บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 

และต่อมายังได้ทำการทดลองอีกหลายต่อหลายครั้งในหลายพื้นที่ เพื่อทดสอบว่าปฏิบัติการฝนหลวงจะให้ประสิทธิภาพสูงสุดในสภาพแวดล้อมใด ด้วยองค์ประกอบใดบ้าง 

 

กระทั่งสามารถพัฒนาเทคนิคในการทำฝนหลวง ซึ่งมีขั้นตอน ๓ ขั้นตอนในการดำเนินการ คือ

ขั้นตอนที่ ๑ ก่อกวน – เป็นการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อกระตุ้นให้เกิดเมฆ

ขั้นตอนที่ ๒ เลี้ยงให้อ้วน – เป็นการรวบรวมและทำมวลเมฆให้โตและหนาแน่นเพียงพอ

ขั้นตอนที่ ๓ โจมตี – เป็นการจัดการกับมวลเมฆเหล่านั้นให้ควบแน่นและตกเป็นฝนลงบนพื้นที่เป้าหมาย

ก่อนที่จะวิวัฒน์ขึ้นเป็นเทคนิคใหม่ในการปฏิบัติการฝนหลวง เรียกว่า “Super Sandwich Technique” ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ 

โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเป็นตำราฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้งแก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

สำหรับหน่วยงานปฏิบัติการฝนหลวง หรือปัจจุบันเรียกว่า กรมฝนหลวงและกองบินเกษตร ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝน บริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ และออกปฏิบัติการทำฝนเพื่อสนองความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ ทั้งการทำฝนเพื่อการเพาะปลูกและการรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน  

 

       (พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ทรงภูมิใจมาก ชื่อ "เมฆหัวเราะ")

จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือลงมาที่ใต้สุดของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวพระราชดำริในการ “แกล้งดิน” เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่พรุ อันเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่ภาคใต้ 

โดยเริ่มการทดลองเป็นครั้งแรกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ พื้นที่พรุนั้นเกิดจากการทับถมกันของพืชพรรณตามลุ่มน้ำที่มีน้ำขัง ทำให้มีสภาพเป็นกรด น้ำในพรุจึงเป็นน้ำเปรี้ยว ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรได้ 

การแกล้งดินเป็นกระบวนการเพื่อลดความเป็นกรดดังกล่าว ด้วยการชะล้างดินด้วยน้ำควบคู่กับการ ใช้ปูน และการควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อไม่ให้แร่กำมะถันที่อยู่ในดินชั้นล่างได้สัมผัสกับอากาศในดิน และทำให้เกิดปฏิกิริยากระทั่งปล่อยกรดกำมะถันออกมา 

ผลจากการทดลองนี้ได้นำไปสู่การขยายผลไปประยุกต์ปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวที่พบในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ เช่น จังหวัดนครนายกและฉะเชิงเทรา เป็นต้น 

 

ด้านการแก้ไขปัญหาอุทกภัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ ให้ขุด  “บ่อล่อน้ำขนาดยักษ์” หรือ Sump ซึ่งก็คือที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “แก้มลิง” 

และต่อมาได้ พระราชทานพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะเจ้าหน้าที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ตอนหนึ่งความว่า “...ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะเริ่มปลอกเปลือก แล้วเอาเข้าปากเคี้ยว ๆ แล้วเอาไปเก็บไว้ที่แก้ม ลิงจะกินกล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้ม  ได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน แล้วจะนำออกมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปในภายหลัง ด้วยพฤติกรรมการนำกล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ในกระพุ้งแก้มก่อนการกลืนกินนี้ จึงเป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำมาใช้    ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา...” 

 

    วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ในหลวงภูมิพลฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนฯ 

                          เสด็จฯ ทอดพระเนตร "แก้มลิง" ณ ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา

หลังจากนั้นจึงมีการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 

เช่น โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย - สนามชัย ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรสาคร โครงการแก้มลิงคลองชายทะเล ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ และโครงการแก้มลิงพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

เพื่อให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำและหน่วงน้ำไว้เมื่อมีน้ำเหนือไหลบ่าลงมาในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง ก่อนจะดำเนินการสูบน้ำออกทะเลในลำดับต่อไป นอกจากนี้ แก้มลิงยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีกด้วย 

 

   (พสกนิกรหลายหมื่นคนเต็มพื้นที่ทุ่งมะขามหย่องเฝ้าฯ รับเสด็จฯ เมื่อ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕)

ส่วนโครงการแก้มลิงในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ แม้หลายแห่งจะไม่ได้มีหน้าที่รับน้ำเหนือและปล่อยน้ำลงสู่ทะเลเหมือนแก้มลิงในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ทำหน้าที่หลักเหมือนกัน กล่าวคือ การเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามแล้งและหน่วงน้ำในฤดูฝนนั่นเอง 

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อราษฎรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังที่กล่าวมานี้ได้ยังประโยชน์โภคผลสู่ราษฎรทั่วหล้าทั้งในด้านการเพาะปลูก การอุปโภคบริโภค

ตลอดจนเอื้อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม และทุกคน  ยังสามารถ ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รู้จักการใช้ทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ และพลังงานอย่างประหยัด มีการปลูกป่าทดแทน เป็นต้น 

เพื่อร่วมสืบสานพระราชปณิธานให้ทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่านี้ยังคงอยู่คู่ประเทศไทยสืบไป

แหล่งที่มา http://oknation.nationtv.tv/blog/februarynews/๒๐๑๗/๐๖/๐๓/entry-๑/comment