กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

บทความ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ ๑๐ ‘การแพทย์-สาธารณสุข’

Release Date : 01-02-2023 00:00:00
บทความ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ ๑๐ ‘การแพทย์-สาธารณสุข’

พระมหากรุณาธิคุณ ‘การแพทย์และสาธารณสุข’ เพื่อปวงประชามีคุณภาพชีวิตที่ดี

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยประชาชนในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่อง การแพทย์การสาธารณสุข ที่ทรงมีพระราชดำริให้มูลนิธิและหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในท้องถิ่นทุรกันดาร ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อีกทั้งยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ และใส่พระทัยติดตามผลการดำเนินงานเสมอมา

ทั้งนี้ ในงาน “เฮลท์แคร์ เรียนรู้ สู้โรค ๒๐๑๙” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๑ ระหว่างวันที่ ๒๗ - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐๐๐ - ๒๐๐๐ ที่ อิมแพค เมืองทองธานี ฮอลล์ ๕ ได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ด้านการเแพทย์และสาธารณสุข เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

“มูลนิธิกาญจนบารมี” สืบสานพระราชปณิธาน

ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี เล่าว่า ย้อนกลับไปราว ๒๐ ปีที่แล้ว องค์กรนี้มีฐานะเป็น “โครงการกาญจนบารมี” เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร นับเป็นหนึ่งในองค์กรที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาโรคมะเร็งโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยยากไร้อย่างครบวงจร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นประธานในการจัดสร้างศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปีที่ ๕๐

ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มีพระราชดำริให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิกาญจนบารมี เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้และสนับสนุนส่งเสริมการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง โดยเน้นการรักษาผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งให้ทุนการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง และสนับสนุนการดำเนินงาน กิจกรรมต่าง ๆ และการพัฒนาบุคลากรของศูนย์มหาวชิราลงกรณธัญบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งส่วนภูมิภาค

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิได้จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาสขึ้นในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ เพื่อส่งเสริมการป้องกันมะเร็งเต้านมในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส รวมทั้งช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยากไร้ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

 

 

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่สถานพยาบาลที่ทำการรักษาไม่เพียงพอ ต้องรอรับการรักษานานทำให้ผู้ป่วยต้องทนทุกข์จากโรคร้าย พระองค์จึงทรงพระราชดำริให้จัดสร้างศูนย์วินิจฉัยบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งขึ้นที่ ตำบลบึงสนั่น อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี”

ในการนี้ พระองค์พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินทุนในการจัดตั้งมูลนิธิ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์วินิจฉัยบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็ง และได้พระราชทานชื่อว่า “ศูนย์มหาวชิราลงกรณธัญบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ” ต่อมาได้ยกสถานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี” จนปัจจุบัน

ต่อมาทางมูลนิธิกาญจนบารมีและกระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกันจัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ เดินทางไปให้บริการวันละ ๑ อำเภอ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ให้กับสตรีกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากสถานพยาบาล และมีฐานะยากจนให้ได้รับโอกาสในการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

 

 

ในปี ๒๕๖๒ เข้าสู่รอบปีที่ ๖ ของการออกหน่วย จากการออกหน่วยครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน มีการคัดกรองมะเร็งเคลื่อนที่รวมทั้งสิ้น ๗๙๔ ครั้ง ในพื้นที่ ๖๕๔ อำเภอ (ณ วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๒) มีการตรวจคัดกรองมะเร็งให้กับผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงไปแล้วกว่า ๒๗๗,๙๐๐ คน และเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม ๑๖,๕๕๗ ราย ส่งคนไข้ที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมไปตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดเพิ่มเติม ๑,๘๓๔ ราย

ปลายเดือนกรกฎาคมปีนี้ ทางมูลนิธิเตรียมเปิดตัวโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต่อยอดเพิ่มรถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่อีก ๒ คัน คาดจะรองรับการตรวจคัดกรองผู้ป่วยด้วยเครื่องแมมโมแกรมเพิ่มขึ้นเป็นวันละ ๑๒๐ คน จากปัจจุบันที่สามารถคัดกรองได้เพียงวันละ ๓๐ - ๔๐ คน เพื่อให้บริการประชาชนได้ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างแท้จริง ดร.นพ.สมยศกล่าว

“…ทุกคนที่ทำงานให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้กำเนิดขึ้นจากความมุ่งปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร  ทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่ รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานไว้เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๒๒ คำว่า  “สมเด็จพระยุพราช” นั้นหมายถึง รัชทายาทที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยในปี พ.ศ.๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร

ต่อมา เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๒๐ คณะรัฐมนตรีได้มีดำริที่จะจัดของขวัญขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีของรัฐบาลร่วมกับบรรดาพสกนิกรชาวไทยทั้งมวล และได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๙ ให้จัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย

ด้วยพลังแห่งความจงรักภักดี พสกนิกรไทยทั้งประเทศพร้อมใจบริจาคที่ดิน ๘๑ แปลง และสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลรวมมูลค่ากว่า ๑๕๕ ล้านบาท นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลชุมชน ๒๑ แห่งทั่วประเทศ

 

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงพยาบาลทั้งหมดนี้ว่า “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช”

หลังการก่อสร้างโรงพยาบาลทั้ง ๒๑ แห่ง มีพระบรมราชานุญาตให้นำเงินบริจาคและทรัพย์สินส่วนที่เหลือมาจัดตั้งเป็นมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๐ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์และได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ และเปิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด้วยพระองค์เองทั้ง ๒๑ แห่ง

ต่อมา พระองค์ยังทรงใส่พระทัยติดตามกิจการและผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลทั้ง ๒๑ แห่งอย่างสม่ำเสมอทั้งได้มอบพระราโชบายแก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ในการพัฒนาโรงพยาบาลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

               โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.๒๕๒๒-๒๕๒๓ ตลอด ๔ ทศวรรษที่ผ่านมา โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง ๒๑ แห่ง ไม่เพียงให้บริการรักษาประชาชนในถิ่นทุรกันดาร แต่ยังทำหน้าที่เทิดพระเกียรติเป็นโรงพยาบาลต้นแบบให้กับโรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียง บุคลากรทุกส่วนของโรงพยาบาลสำนึกเสมอว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกำเนิดจากศรัทธาอันแรงกล้าของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ

พระราชทานเงิน ๒.๔ พันล้าน สานต่อพระราชปณิธานการแพทย์

หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ ๔ - ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เสร็จสิ้นลง ต่อมาในวันที่ ๗ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินที่ประชาชนได้ร่วมกันทูลเกล้าฯ ถวายในการร่วมบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งหมด และเงินรายได้จากการจัดงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒,๔๐๗,๑๔๔,๔๘๗.๕๙ บาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์และพยาบาล และสถานพยาบาลต่าง ๆ จากทั่วประเทศ ๒๗ แห่ง ด้วยทรงห่วงใยสุขภาพร่างกายของประชาชน ตลอดจนประสิทธิภาพด้านการให้บริการทางการแพทย์

 

สร้างความปลื้มปีติยังประชาชนทุกหมู่เหล่าเพื่อสืบสานพระราชปณิธานด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพพสกนิกรที่ทรงห่วงใย เงินพระราชทานจำนวนดังกล่าว ได้รับการแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์และพยาบาล และสถานพยาบาลต่าง ๆ จากทั่วประเทศจำนวน ๒๗ แห่ง ที่ยังคงขาดแคลนและมีความจำเป็นในการให้บริการในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วย

 

 

นพ.วิชัย วิเชียรวัฒนชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวน ๒๗ โรงพยาบาลที่ได้รับเงินพระราชทาน เล่าว่า

โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ได้รับพระราชทานเป็นเงินกว่า ๘๐ ล้านบาท (๘๐,๐๓๒,๘๘๐ บาท) โดยเงินจำนวนนี้จะนำไปจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่มีความจำเป็นและสำคัญในการที่จะนำไปดูแลและรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ ให้เพิ่มประสิทธิภาพให้มากที่สุดเพื่อลดการส่งต่อผู้ป่วย ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย และประชาชนจังหวัดนราธิวาสอันเป็นพสกนิกรของพระองค์ ในนามของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวนราธิวาส แพทย์พยาบาลและบุคลากรของโรงพยาบาลนราธิวาสฯ จะสนองพระปณิธานของพระองค์ ในการที่จะดูแลประชาชนชาวนราธิวาสให้ดีที่สุดและตลอดไป” นพ.วิชัยกล่าว

                     

                                                           นพ.วิชัย วิเชียรวัฒนชัย

 

แหล่งที่มา https://www.matichon.co.th/court-news/news_1555205