กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

บทความ "เงินตราในสมัยรัตนโกสินทร์"

Release Date : 15-02-2022 00:00:00
บทความ "เงินตราในสมัยรัตนโกสินทร์"

ในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๑ ช่วงแรกยังคงใช้พดด้วงที่มีตรา ‘จักรตรีศูล’ ของแผ่นดิน  พระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นตรา ‘บัวอุณาโลม’ มีด้วยกัน ๖ ขนาด คือ บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง สองไห และไพ ถึง สมัยรัชกาลที่ ๒ ใช้เป็นตรา ‘จักรและครุฑ’ ซึ่ง จักร หมายถึงราชวงศ์ ส่วน ครุฑ มาจากพระนามเดิม คือ ฉิม หมายถึง วิมานฉิมพลีของพระยาครุฑ มี ๔ ราคา คือ บาท กึ่งบาท สลึง และเฟื้อง สมัยรัชกาลที่ ๓ เงินพดด้วงเป็น ‘ตราจักร และตราปราสาท’ มาจากพระนามเดิมคือ “ทับ”  แปลว่า ที่อยู่ มี ๘ ราคาได้แก่ ตำลึง กึ่งตำลึงบาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง กึ่งเฟื้อง (สองไพ) และ ไพ นอกจากนี้ยังใช้ตราอื่นอีก ๖ ตรา คือ ตราครุฑเสี้ยว ตราดอกไม้ ตราหัวลูกศร ตรารวงผึ้ง ตราเฉลว และตราใบมะตูมนอกจากนี้ ยังริเริ่มการผลิต ‘เหรียญกษาปณ์ทองแดง’ เนื่องจากพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ นายฮันเตอร์  (เราเรียกหันแตร) เข้ามาในปี พ.ศ. ๒๓๗๘ นำเหรียญแบนทำด้วยทองแดงเข้ามาเป็นตัวอย่าง จึงโปรดฯ ให้ทำเป็นเงินตรามีราคาต่ำกว่าเฟื้องและใช้แทนเบี้ยซึ่งลดความนิยมลง เรียกกันว่า “เงินแป”  หรือ “อัฐทองแดง” แต่ต่อมาไม่โปรดฯ ให้ใช้ในท้องตลาด

 

                                                    เหรียญอัฐทองแดง

สมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชประสงค์จะรื้อฟื้น ‘เงินแป’ ให้เป็นที่ยอมรับ เพราะมีความทนทาน สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ทรงส่งเครื่องมือทำเงินชุดเล็กมาถวาย และ เซอร์ โรเบอร์ต ชอมเบอร์ก ได้จัดหาเครื่องจักรตามคำสั่งซื้อ ต่อมา นายโหมด อมาตยกุล ทำการจัดสร้างจนสำเร็จ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยากสาปนกิจโกศล โรงงานที่ตั้งทรงพระราชทานนามว่า “โรงกสาปน์สิทธิการ” ตั้งอยู่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในสมัยนี้ เริ่มผลิต เหรียญบาท เหรียญสองสลึง เหรียญสลึง และเหรียญเฟื้องขึ้น แต่ละวันทำไม่ได้มากนักไม่พอใช้ จึงโปรดฯ ให้เลิกเสีย เรียกกันว่า “เหรียญบรรณาการ” วงการสะสมเรียกว่า “บล๊อกในประเทศ” ความคมชัดและสวยงามจะสู้บล็อกนอกไม่ได้

 

                                                      เหรียญดีบุก

ในปี พ.ศ. ๒๔๐๕ ทรงโปรดฯ ให้ผลิตเหรียญดีบุกที่มีลักษณะกลมแบนเรียกว่า  "กระแปะ”  โดยเลียนแบบจีนและญวน โดยนำดีบุกมาผสมกับทองแดง ทำให้แข็งกว่าดีบุกธรรมดา เงินกระแปะนี้ใช้แลกเปลี่ยนในระดับสากล เพราะมีถึง ๓ ภาษาคือ ไทย จีน โรมัน มี ๒ ราคา คือ อัฐ กับ โสฬส โดยนำมาใช้แทนเบี้ย

 

                                                       ใบสนธิสัญญาเบอร์นี่

ผลของ “สนธิสัญญาเบอร์นี่” ทำให้เงินตราต่างประเทศและทองคำเข้าสู่สยาม เพื่อเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้า รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดฯ ให้ทำทองแปเป็นราคา ทศ พิศ และพัดดึงส์ ขึ้น เป็นทองเนื้อแปดน้ำสองขา ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๐๗ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ทรงโปรดฯ ให้ผลิตเหรียญตรา “พระมหาพิชัยมงกุฏ” หนัก ๔ บาท เป็น เหรียญทองคำ และเหรียญเงินพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการมีภาษาจีนกำกับอยู่เรียก “เหรียญ แต้ เม้ง ทง ป้อ"

 

                                                        เหรียญทองแดง จปร.

สมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีการทำทองพิศขึ้นอีก พร้อมทั้งมีการผลิตเหรียญกษาปณ์และเหรียญที่ระลึกขึ้นมากมาย เช่น โปรดฯ ให้ผลิตเหรียญทองแดง จปร. เหรียญบาท เหรียญสลึงและเหรียญเฟื้อง และ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ โปรดฯ ให้ผลิตเงินพดด้วงตราช่อรำเพย ในการบำเพ็ญพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์

 

                                                   เหรียญ ร.ศ. ๑๑๖

 

                   

                                                   เหรียญเงินรูปถ้วย

มีการผลิตเหรียญทองแดงตราพระรูป (พระบรมรูปครึ่งพระองค์) ด้านหลังเป็นรูป พระสยามเทวาธิราช และเหรียญสตางค์ทองขาวหรือนิเกิล ร.ศ. ๑๑๖ ด้านหน้าเป็นตราช้างไอยราพต มีการใช้เงินในโรงบ่อนโดยเฉพาะเรียกว่า เหรียญเงินรูปถ้วย เหรียญเงินงอ และ ปี้ อีกด้วย

แหล่งที่มา http://www.arjanram.com/relic_detail.php?g=๒&id=๒๓๑