กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

บทความ "เงินถุงเแดง"

Release Date : 16-01-2022 19:00:00
บทความ  "เงินถุงเแดง"

เงินถุงแดง เป็นเงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าทับ ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๒ ทรงทำหน้าที่กำกับราชการกรมท่า กรมท่านี้เป็นกรมที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานการต่างประเทศ การพาณิชย์ แล้วก็การพระคลัง ทรงบริหารงานราชการกรมท่าเข้มแข็งมากแล้ว ก็นำรายได้เข้าสู่แผ่นดินได้จำนวนมากอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เงินแผ่นดินสมัยก่อนเค้าเรียกว่าเงินในท้องพระคลังหลวง          

วิธีการหารายได้ของพระองค์ท่าน คือ จัดแต่งเรือสำเภานำสินค้าไปค้าขายกับต่างประเทศ อย่างเช่น จีน อินเดีย และประเทศแถบเปอร์เซีย มีการค้าขายทั้งสำเภาหลวงและสำเภาของส่วนพระองค์ โดยทรงนำสินค้าของส่วนพระองค์ใส่เรือสำเภาของส่วนพระองค์ค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งเงินที่ได้มาในส่วนของสำเภาหลวงให้เข้าคลังหลวง ในส่วนสำเภาของส่วนพระองค์ ได้ทรงแบ่งส่วนหนึ่งถวายรัชกาลที่ ๒ เพื่อนำเข้าพระคลังหลวง  อีกส่วนหนึ่งทรงเก็บไว้เป็นเงินส่วนพระองค์ที่ทรงใส่ไว้ในถุงแดงข้างที่พระบรรทม เมื่อเงินเต็มถุงก็จะทรงนำเข้าพระคลังหลวงไว้เป็นสมบัติแผ่นดินทั้งหมด และทรงออมใหม่เพื่อพระราชทานเก็บเข้าพระคลังหลวงเป็นสมบัติแผ่นดินอีก ทั้ง ๆ ที่เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และการที่ทรงใช้ถุงสีแดงใส่เงินนั้นอาจจะมาจากคติความเชื่อของชาวจีนที่ติดต่อค้าขายกับไทยมากในขณะนั้น ซึ่งจะนิยมนำเงินใส่ ซองสีแดงมอบให้ลูกหลานในเทศกาล หรืองานมงคลเพื่อความมั่งคั่งร่ำรวยและมีโชคดี  

 

สำหรับเหรียญที่อยู่ในถุงแดงนั้นเป็นเหรียญเม็กซิโก เนื่องจากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประเทศไทย หรือสยามในขณะนั้นมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ สื่อที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจและค้าขายระหว่างประเทศจึงเป็นเงินเหรียญต่างประเทศที่มีการยอมรับกันในยุคนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีสกุลเงินต่างประเทศเป็นที่ยอมรับในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันในไทย เช่น เงินเม็กซิโก เงินเปรู และเงินรูปีของอินเดีย เป็นต้น จึงสันนิษฐานว่าเงินในถุงแดงน่าจะเป็นเงินต่างประเทศที่ใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น ดังเช่น เหรียญรูปนกของเม็กซิโก ซึ่งใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่หลายชาติ ให้การยอมรับ โดยเหรียญนกเม็กซิโกมีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนมีรูปนกอินทรีย์อยู่ด้านหนึ่ง (รูปนกอินทรีย์กางปีกปากคาบอสรพิษเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเม็กซิโก) ไทยจึงเรียกเหรียญนี้ว่า “เหรียญนก” แม้ว่าสื่อในการแลกเปลี่ยนสินค้าของไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ จะเป็นเงินพดด้วงก็ตาม

 

พวกเงินพวกนี้จริง ๆ คือ เงินส่วนพระองค์ ที่ท่านเก็บไว้ แล้วท่านจะพระราชทานใครก็ได้ หรืออะไรก็ได้ท่านมีสิทธิใช้ แต่พระองค์ท่านก็พยายามเก็บหอมรอมริบไว้เพื่อที่จะให้เป็นสมบัติของแผ่นดินไว้ใช้ในยามยาก ตามที่มีบันทึกไว้ปรากฏว่ารัชกาลก่อนที่จะสวรรคตท่านมีกระแสรับสั่งไว้ว่า เงินในท้องพระคลังทั้งข้างหน้าและข้างใน ไม่ได้บอกว่าในไหน มีอยู่รวม ๆ กันแล้วประมาณ ๔๐๐๐๐ ชั่ง แต่ขอไว้สัก ๑๐๐๐๐ ชั่งเถิด คือให้บอกกับผู้ที่จะครองราชย์ต่อจากพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านไม่ได้ระบุว่าใครจะเป็นผู้ครองราชย์ต่อจากพระองค์ท่าน แล้วก็ไม่ได้บอกว่าจะให้กับพระราชโอรสองค์ไหน เพียงแต่ว่า ขอให้ผู้ที่จะครองราชย์ต่อจากพระองค์ท่าน คือเอาเงินซัก ๑๐๐๐๐ ชั่ง จากจำนวน ๔๐๐๐๐ ชั่ง ไปช่วยบำรุงวัดวาอารามที่เสื่อมโทรม เป็นกุศลผลบุญ แล้วก็ส่วนที่เหลือให้เอาไว้ใช้ในการแผ่นดินต่อไป คือไม่ได้พระราชทานให้แก่โอรสธิดาองค์ใด แต่ให้เป็นของสำหรับแผ่นดิน และส่วนหนึ่งก็คือบำรุงวัด

 

วัตถุประสงค์ของการใช้เงินถุงแดงสำรองไว้ใช้ยามประเทศชาติวิกฤต เพราะว่าก่อนที่จะสวรรคตนั้นพระองค์ท่านมีรับสั่งว่า คือห่วงประเทศ ท่านบอกว่าการศึกสงครามพม่า ญวน เขมรคงไม่มีแล้ว จะมีแต่เรื่องของฝรั่ง ซึ่งตอนนั้นมีอังกฤษ มีฮอลันดาเข้ามาเยอะ แล้วก็ท่านก็รับสั่งบอกว่า ถ้าอะไรส่วนที่ดีก็จงนำมาใช้จำไว้ ส่วนที่ไม่ดีก็อย่า ก็คือให้ระวังไว้ แสดงว่าทรงมีความละเอียดรอบคอบแล้วก็คิดไปถึงอนาคต คิดไกล และท่านก็สั่งไว้ เงินของท่านที่เหลือ ก็คือ ให้ไว้ใช้ในยามแผ่นดินวิกฤต ยามยาก ยามจำเป็น สถานการณ์ที่นำเงินถุงแดงออกมาใช้ คือ เมื่อรัชกาลที่ ๓ สวรรคตไปรัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์ท่านไม่ได้ใช้ท่านเก็บไว้ พอถึงรัชกาลที่ ๕ บังเอิญช่วงนั้นมันเกิดวิกฤตการณ์ที่ที่คนไทยเรารู้จักกันต่อมาในประวัติศาสตร์ก็คือวิกฤตการณ์ รศ. ๑๑๒ รศ. ๑๑๒ นี่ก็ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ฝรั่งเศสอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งมันเป็นดินแดนในอาณัติของสยาม แต่ปัจจุบันนี้ก็ถือว่าอยู่ในเขตของประเทศลาว แล้วก็มีอาณาเขตติดต่อกับเวียดนามและภาคอีสานตอนบน เมืองสำคัญในดินแดนนั้น ก็คือเมืองคำม่วน ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์คือฝรั่งเศสบุกรุก เข้ามาโดยอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของลาวและดินแดนส่วนนี้ต้องเป็นของฝรั่งเศสด้วย ซึ่งตอนนั้นสยามมีข้าหลวง สยามประจำเมืองคำม่วน คือเจ้าเมืองคำม่วน เป็นข้าหลวงของสยามคือ พระยอดเมืองขวาง

 

พระยอดเมืองขวางท่านเป็นข้าหลวงสยาม ประจำเมืองคำม่วน ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ส่งไปปกครอง พระยอดเมืองขวาง ถูกฝรั่งเศสบังคับให้ถอนตัวออกมา ตอนนั้นเกิดการรบกัน มีทหารฝรั่งเศสตายด้วย พระยอดเมืองขวางก็เลยถูกจับขึ้นศาล แต่ตอนนั้นมีผู้พิพากษาสยามตัดสินให้พระยอดเมืองขวางพ้นข้อกล่าวหา แต่ปรากฏว่าฝรั่งเศสไม่พอใจ ส่งเรือรบบุกเข้ามาทอดสมอหน้าสถานทูตฝรั่งเศสในพระนคร แล้วยื่นคำขาด บอกว่าให้สยามยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง รวมทั้งเกาะต่าง ๆ ให้กับฝรั่งเศส และขอเอาเมืองจันทบุรี ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของสยามทางฝั่งตะวันออกเป็นประกันนานถึง ๑๐ ปี นอกจากนี้สยามต้องตั้งศาลผสม  เพื่อพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวางใหม่

ซึ่งศาลผสมประกอบด้วยผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศส คือฝรั่งเศส ๓ คน คนสยาม ๒ คน ซึ่งในที่สุดตัดสินแล้วฝรั่งเศสก็ชนะอยู่วันยังค่ำ แล้วก็ไทยต้องชดใช้ค่าปรับ ค่าเสียหาย ค่าปรับสินไหมอะไรต่าง ๆ เป็นเงิน ๒ ล้านฟรังก์ นอกจาก ๒ ล้านฟรังก์ นี้แล้ว ต้องจ่ายค่าเสียหายค่าทำขวัญ ให้กับครอบครัวทหารฝรั่งเศสที่ตาย ซึ่งตรงนี้เขาไม่ได้ระบุจำนวน ไม่ทราบจำนวนเงินแน่นอน นอกจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ฝรั่งเศสกำหนดว่าต้องจ่ายค่ามัดจำ จ่ายเงินเป็นประกันเป็นเงินเหรียญทั้งหมดอีก ๓ ล้านฟรังก์ คิดเป็นเงินไทย ประมาณ ๗ ล้านบาทประมาณนั้น แต่ว่าค่ามัดจำที่ว่า ๓ ล้านฟรังก์ ต้องจ่ายภายใน ๔๘ ชั่วโมง ถ้าไม่จ่ายไม่ตอบภายใน ๔๘ ชั่วโมง ฝรั่งเศสจะนำเรือรบปิดปากอ่าวไทยทั้งหมด คือตอนนั้นเรือฝรั่งเศสเข้ามาปากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงพระนครแล้ว ตั้งปากกระบอกปืนหันสู่พระบรมมหาราชวังแล้ว ถ้าเป็นสถานการณ์ตอนนั้นรัชกาลที่ ๕ จะทำอย่างไร เครียดมากป่วย ทรงพระประชวร

เมื่อฝรั่งเศสยื่นคำขาดแบบนี้ ประเทศไทยจะทำอย่างไร สยามจะทำอย่างไร เพราะว่าเงินในพระคลังหลวงตอนนั้น เงินจำนวนทั้งหมดมากกว่าครึ่งของงบประมาณทั้งสยามแล้ว ก็บังเอิญมีพระบรมวงศ์ท่านหนึ่ง ได้กราบบังคมทูลราชการที่ ๕ ว่า มีเงินถุงแดงซึ่งเป็นเงินข้างพระที่บรรทมของรัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงเก็บไว้และก็พระราชทานให้ไว้ใช้เป็นเงินแผ่นดิน ลองมาเปิด ปรากฏนับเงินถุงแดง เปิดนับมาได้ แต่ว่าเงินที่เปิดมายังไม่พอ บรรดาเจ้านายขุนนางคหบดีที่มีเงินมีทองทั้งหลาย ก็นำข้าวของเงินทองไปขายแลกเงินเหรียญรวมกันแล้วมาถวายสมทบทุนแล้วก็ส่งไปเป็นค่าประกันประเทศชาติจึงรอดมา ถือว่าได้ช่วยในยามวิกฤติ

 

ท่านหญิงพูนพิศมัยท่านเล่า ขนเงินเหรียญใส่ถุงขนออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปยังท่าราชวรดิษฐ์ มีการประมาณว่าน้ำหนักเหรียญถึง ๒๓ ตัน ขนทั้งวันทั้งคืน ภายใน ๔๘ ชั่วโมง จนกระทั่งถนนเป็นรอยร่องเลย คือพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประเทศสยามในยามยาก ถ้าไม่ได้เงินถุงแดงของพระองค์ท่านก็ไม่รู้ว่าเงินที่ได้จากการขายข้าวของจะเพียงพอต่อการชดใช้ไถ่เอกราช กู้แบบกู้ชาติหรือเปล่า คือเรื่องของคุณค่าของเงินถุงแดงที่ได้ประจักษ์ชัดในความเป็นไทยมาจนทุกวันนี้ ประชาชนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสายพระเนตรอันยาวไกลของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของเงินถุงแดง

 

แหล่งที่มา https://www.stou.ac.th/study/sumrit/๕-๖๐/page๑-๕-๖๐.html