กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

พระราชกรณียกิจ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ “ด้านภาษาและวรรณกรรม”

Release Date : 01-01-2022 00:00:00
พระราชกรณียกิจ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ “ด้านภาษาและวรรณกรรม”

พระราชกรณียกิจ “ด้านภาษาและวรรณกรรม”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ 

“ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่นในทางวรรณคดีเป็นต้น ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเองซึ่งต้องหวงแหน ประเทศใกล้เคียงของเราหลายประเทศมีภาษาของตนเอง แต่ว่าเขาก็ไม่แข็งแรง เขาต้องพยายามหาทางที่จะสร้างภาษาของตนเองไว้ให้มั่นคง เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรมเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าพระองค์จะทรงเจริญพระชันษาในต่างประเทศ ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศ แต่พระองค์ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยได้อย่างยอดเยี่ยม และยังทรงห่วงใยต่อภาษาไทยอีกด้วย พระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยของพระองค์แสดงชัดในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ด้านภาษา

พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในวโรกาสต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่นักธุรกิจและนักหนังสือพิมพ์ในนิวยอร์ก เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ดังนี้

“การแพร่ข่าวโดยขาดความระมัดระวังหรือแม้แต่คำพูดต่าง ๆ เพียงนิดเดียวก็สามารถจะทำลายงานที่ผู้มีความปรารถนาดีทั้งหลายพยายามสร้างไว้ด้วยความยากลำบากเป็นเวลาแรมปี เหมือนฟองอากาศนิดเดียว ถ้าเข้าไปอยู่ในเส้นเลือดก็จะสามารถปลิดชีวิตคนได้ทั้งคน และน้ำตาลหวาน ๆ ก้อนเล็กนิดเดียว ถ้าใส่ลงในถังน้ำมันรถก็จะทำให้เครื่องจักรดี ๆ ของรถเสียได้โดยสิ้นเชิง”

จากพระราชดำรัสนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงอุปมาคำพูดเล็ก ๆ “น้อย ๆ” เปรียบเทียบกับ “ฟองอากาศ”  และ “น้ำตาล ” ว่าสามารถทำลายสิ่งที่สร้างมาด้วยความยากลำบากได้ เช่นเดียวกันกับฟองอากาศและน้ำตาลแม้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าฟองอากาศเข้าไปอยู่ในเส้นเลือด และน้ำตาลเข้าไปอยู่ในเครื่องยนต์แล้วทั้งเครื่องยนต์และเส้นเลือดก็จะถูกทำลายลงได้

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาภาษาละติน ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับเรื่องศัพท์ ที่มาของศัพท์ และรากศัพท์ อีกทั้งยังสนพระทัยและค้นคว้าเกี่ยวกับศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะทรงเข้าพระทัยว่าหากเข้าใจศัพท์และที่มาของศัพท์แล้ว  จะช่วยให้เข้าใจความหมายของธรรมะได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

อีกทั้ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงใช้ภาษาในด้านการพระราชนิพนธ์ร้อยกรองคำอวยพรปีใหม่ มอบแด่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศซึ่ง ส.ค.ส. ฉบับแรกปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อเป็น ส.ค.ส. พระราชทานปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยพระราชทานให้แก่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรงพริ้นต์จากคอมพิวเตอร์และส่งแฟกซ์พระราชทานไปยังหน่วยงานโดยทั่วถึงกัน ส.ค.ส. พระราชทานแต่ละปี จะประมวลจากเหตุการณ์บ้านเมืองในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา ด้วยถ้อยคำที่สั้น ๆ แต่มากด้วยคุณค่าทรงเน้นในการเตือน และให้กำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่ง ส.ค.ส. ส่วนใหญ่ล้วนเป็นสีขาว – ดำ ทั้งสิ้น

ด้านวรรณกรรม

ผลงานด้านวรรณกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีทั้งพระราชนิพนธ์ทรงแปลและพระราชนิพนธ์ทรงแต่งหลายเรื่องด้วยกันพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชานุกิจรัชกาลที่ ๘” ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล ซึ่งพระราชนิพนธ์เรื่องนี้อยู่ในเรื่อง “พระราชานุกิจ”  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชกุศล ๑๐๐ วัน พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙

 

วรรณกรรมทรงพระราชนิพนธ์

พระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชานุกิจรัชกาลที่ ๘ ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวกิจวัตรของรัชกาลที่ ๘   ทั้งกิจวัตรส่วนพระองค์ พระราชกิจ และพระราชานุกิจขณะเสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชกุศล ๑๐๐ วันพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งภาษาที่ทรงใช้จะเป็นภาษาที่สั้น กระชับ และได้ใจความชัดเจน

 

พระราชนิพนธ์เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์” ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อพระราชทานเป็นพิเศษแก่หนังสือวงวรรณคดี ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระราชนิพนธ์รูปแบบบันทึกประจำวัน ตั้งแต่เสด็จฯ จากประเทศไทย เพื่อไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ช่วงก่อนเดินทางจากเมืองไทยไปยังตำหนักวิลลาวัฒนา คือ ระหว่างวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งพระราชนิพนธ์นี้ ทรงพรรณนาความรู้สึกของพระองค์ขณะจากเมืองไทย สะท้อนให้เห็นถึงความรัก ความผูกพัน และความห่วงใยในพสกนิกรของพระองค์

 

พระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ แห่งวัดราชผาติการาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เรื่องพระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยานในกรุงมิถิลา พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัย จึงทรงค้นคว้าเรื่องพระมหาชนเพิ่มเติมในพระตรีปิฎก และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และแปลเป็นภาษาสันสกฤตอีกภาษาหนึ่ง ก่อนจะแปลเป็นฉบับการ์ตูน ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อให้อ่านและเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถพิจารณาหาแนวดำเนินชีวิตที่เป็นมงคลได้

พระราชนิพนธ์เรื่องทองแดง พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ได้แฝงข้อคิดคติธรรมที่มีคุณค่า โดยเฉพาะความกตัญญูรู้คุณของทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑

 

งานแปล ติโต ผลงานแปลชิ้นแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงแปลจากหนังสือ Tito ของ Phyllis Auty ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อให้ข้าราชบริพารได้ทราบถึงบุคคลที่น่าสนใจคนหนึ่งของโลก ติโตเป็นผู้ที่ทำให้ประเทศยูโกสลาเวีย ที่ประกอบด้วยประชาชนจากหลากหลายชนเผ่า มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ สามารถรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นยามที่ประเทศชาติต้องพบกับภาวะวิกฤติ เพื่อร่วมกันรักษาความอุดมสมบูรณ์ และความเจริญของประเทศไว้ หนังสือติโตนี้ ได้จัดพิมพ์เป็นเล่ม และวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๓๗

 

เศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา บทที่ ๔ เล็กดีรสโต แปลจาก Small is Beautiful โดย E.F.Schumacher หน้า ๕๓-๖๓ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นงานแปลชิ้นที่สองของพระองค์ท่าน โดยทรงแปลจากหนังสือ A Man Called Intrepid ของ William Stevenson ทรงเริ่มแปลหน้าแรกเมื่อ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ และแปลหน้าสุดท้ายเมื่อ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยใช้เวลาในการแปลรวมทั้งสิ้น ๒ ปี ๙ เดือน   ๓ วัน แต่ได้นำมาจัดพิมพ์เพื่อวางจำหน่ายก่อนหนังสือติโต ซึ่งทรงแปลเป็นเล่มแรก คือจัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖

บทความที่ทรงพระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียง

- “ข่าวจากวิทยุเพื่อสันติภาพและความก้าวหน้า” จาก “Radio Peace and Progress”   ในนิตยสาร Intelligence Digest ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘
- "การคืบหน้าของมาร์กซิสต์" จาก "The Marxist Advance" Special Brief
- "รายงานตามนโยบายของคอมมูนิสต์" จาก "Following the Communist Line"
- "ฝันร้ายไม่จำเป็นจะต้องเป็นจริง"
จาก "No Need for Apocalypse" ในนิตยสาร The Economist ฉบับลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
- "รายงานจากลอนดอน" จาก " London Report" ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๘
- "ประเทศจีนอยู่ยง" จาก "Eternal China" ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
- "ทัศนะน่าอัศจรรย์จากชิลีหลังสมัยอาล์เลนเด" จาก "Surprising Views from a Post Allende Chile" ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
- "เขาว่าอย่างนั้น เราก็ว่าอย่างนั้น" จาก " Sauce for the Gander..." ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
- "จีนแดง ตั้วเฮียค้ายาเสพติดแห่งโลก" จาก "Red China Drug Pushers to the World " ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
- "วีรบุรุษตามสมัยนิยม" จาก "Fashion in Heroes" โดย George F. Will ในนิตยสาร Newsweek ฉบับลงวันที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒

จากการที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระปรีชาสามารถในหลายภาษา ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยในการที่จะพระราชนิพนธ์หรือแปลได้อย่างผู้ที่เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนต้นฉบับ สำหรับพระราชนิพนธ์แปล จะทรงแปลตามความมากกว่าแปลตามคำ ด้วยเหตุที่ทรงเลือกสรรถ้อยคำให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่ผู้อ่านจะสื่อเรื่องราวได้ ทำให้พระราชนิพนธ์แปลของพระองค์ มีอรรถรสแบบไทยแทรกพระอารมณ์ขันไว้ได้อย่างเหมาะสม

สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะด้านวรรณศิลป์ของพระองค์อย่างสมบูรณ์ คือพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ซึ่งพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน และจะทรงเลือกใช้ภาษาโบราณ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อคงความขลังของเนื้อหาในบางตอน ซึ่งในเรื่องพระมหาชนกนี้ พระองค์ได้ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพด้านทัศนศิลป์ไว้ด้วย นั่นคือภาพประกอบฝีพระหัตถ์ของพระองค์ โดยทรงใช้คอมพิวเตอร์วาดภาพแสดงเส้นทางเดินเรือของพระมหาชนกรวม ๔ ภาพ คือภาพวันที่ควรออกเดินทาง ภาพวันเดินทาง ภาพวันที่เรือล่ม และภาพพระมหาชนกทรงว่ายน้ำ และนอกจากนี้พระราชนิพนธ์แปลของพระองค์ จะทรงเลือกสรรคำ โดยเฉพาะพระองค์ทรงโปรดที่จะใช้คำแปลก ๆ เพื่อให้พระราชนิพนธ์ของพระองค์มีสีสัน

แหล่งที่มา https://king.kapook.com/kingrama๙/job_duties_language_and_%๒๐literature.php