กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “ทุนการศึกษาพระราชทาน”

Release Date : 05-10-2021 00:00:00
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “ทุนการศึกษาพระราชทาน”

ทุนมูลนิธิ “ภูมิพล”และทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล”

“…ให้จัดตั้งมูลนิธิช่วยเหลือนักเรียนขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่ มูลนิธิภูมิพล และมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อช่วยเหลือการศึกษาและการทำปริญญานิพนธ์ หรือการวิจัยให้แก่บัณฑิต และพระราชทานแก่บัณฑิตที่ได้คะแนนยอดเยี่ยมในสาขาวิชาต่าง ๆ ในการไปศึกษาต่อในต่างประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเมื่อนักศึกษาทุนกลับสู่ประเทศไทย…”

             พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อช่วยเหลือการศึกษาในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา จนไปถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งนักเรียนที่จะได้รับพระราชทานทุนนี้ มีทั้งนักเรียนที่ด้อยโอกาส นักเรียนที่มีฐานะทางบ้านยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีผลการเรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย และมีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจเรียน โดยพระราชทานเป็นทุนประเดิม และต่อมามีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลอีกเป็นจำนวนมาก จนกระทั่ง ตั้งเป็นมูลนิธิช่วยเหลือนักเรียนขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อที่จะให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เหล่านี้ได้กลับมาทำงานในสาขาวิชาที่ตนเองได้เรียนมาต่อไป

ทุนมูลนิธิ “ภูมิพล”

 

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งเป็นทุน “ภูมิพล” ขึ้น เพื่อเก็บดอกผลพระราชทานเป็นทุนการศึกษา แก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ผู้ที่มีผลการเรียนดี แต่ขัดสนทุนทรัพย์ ให้แก่นักศึกษาคนละ ๒๐๐ บาท ต่อเดือนเป็นเวลา ๑ ปี นอกจากนี้ ได้พระราชทานทุนการศึกษาให้แก่บัณฑิตที่สอบได้คะแนนยอดเยี่ยมในสาขาวิชาต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นรางวัลแก่นิสิต นักศึกษา ที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นประจำทุกปี และในเวลาต่อมาได้พระราชทานทุนการศึกษาขยายออกไป     ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๐ ได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มเติมอีกจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ให้แก่มูลนิธิ “ภูมิพล” และได้ตราระเบียบลงวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นมูลนิธิโดยได้แบ่งทุนการศึกษาออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่

๑. ทุนประเภทช่วยเหลือการศึกษา

๒. ทุนประเภทช่วยเหลือการทำปริญญานิพนธ์ หรือการวิจัย

โดยยังได้มีการพระราชทานทุนมูลนิธิ “ภูมิพล” ให้แก่บัณฑิตที่ได้คะแนนยอดเยี่ยมในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อไปศึกษาต่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งนักศึกษาที่ได้รับพระราชทานทุนนี้ หลังจากสำเร็จการศึกษากลับสู่ประเทศไทยแล้ว ได้ออกปฏิบัติงานการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

ทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล”

 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักว่า ประเทศไทยต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวิชาเทคนิคขั้นสูง เพื่อมาช่วยพัฒนาประเทศให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นจึงควรที่จะส่งเสริมนิสิต นักศึกษา ที่มีความรู้ ความสามารถอย่างยอดเยี่ยม ให้ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในวิชาขั้นสูงบางวิชา ณ ต่างประเทศ เมื่อสำเร็จแล้วจะได้ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ตนเองเรียนมาต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองดำเนินการด้วยการพระราชทาน “ทุนอานันทมหิดล” ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ แก่นักศึกษาแพทย์ตามรอยพระบาทสมเด็จ พระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ แด่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเวลาต่อมา ทรงเห็นว่า   ได้ผล สมพระราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จดทะเบียนตราสารทุนอานันทมหิดล เป็น “มูลนิธิอานันทมหิดล” เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๒ โดยพระราชทานทุนเริ่มแรกจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท มีผู้ได้รับพระราชทานทุนสาขาแพทยศาสตร์ในขณะนั้นจำนวน ๓ ราย

ปัจจุบัน ทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล” ได้ทำการขยายขอบเขตการพระราชทานทุนแก่นักศึกษาสาขาต่าง ๆ ได้แก่ สาขาแพทยศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเกษตรศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา วารสารศาสตร์ และอักษรศาสตร์ โดยจะมีคณะกรรมการประจำแต่ละสาขาคัดเลือกบัณฑิตที่มีความสามารถยอดเยี่ยมแต่ละสาขาดังกล่าวไปศึกษาเพิ่มเติม ณ ต่างประเทศ เพื่อจะได้กลับมาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่ได้ศึกษามาต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีทุนพระราชทาน คือ “ทุนส่งเสริมบัณฑิต” โดยคณะกรรมการสาขาแพทยศาสตร์ พิจารณาเห็นว่า แพทย์ผู้ใดเป็นแพทย์ผู้สละเวลาและอุทิศตนปฏิบัติงาน เพื่อส่วนรวมโดยมิได้คำนึงถึงความเหนื่อยยากและประโยชน์ส่วนตน ก็จะขอพระราชทานเงินทุนส่งเสริมบัณฑิต เพื่อช่วยเป็นค่าใช้จ่ายของแพทย์ผู้นั้น ทุนส่งเสริมบัณฑิตนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๓ จนถึงปัจจุบัน

 

แหล่งที่มา https://www.porpeang.org/content/๖๑๙๙/ทุนมูลนิธิ-ภูมิพลและทุนมูลนิธิ-อานันทมหิดล