กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “โครงการห้วยโสมง” จังหวัดปราจีนบุรี

Release Date : 13-09-2021 00:00:00
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “โครงการห้วยโสมง” จังหวัดปราจีนบุรี

“…ควรพิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำห้วยโสมง ทำเลที่สร้างเขื่อน พิกัด ๔๘ PSA ๘๐๖-๕๘๕ แผนที่มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ระหว่าง ๕๔๓๗ โดยด่วน ทั้งนี้ควรพิจารณาเก็บกักน้ำอย่างเต็มที่เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรสองฝั่งห้วยโสมง ในเขตอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปี…”

                            พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

สำหรับความทุกข์ร้อนเรื่องน้ำของคนไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการแก้ไขและบรรเทาจากแนวพระราชดำริมากมายที่พระราชทานไว้ ซึ่งโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว เมื่อปี ๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริให้พัฒนาต้นน้ำลำธารปราจีนบุรี โดยให้พิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ ๓ เขื่อน ได้แก่เขื่อนห้วยพระปรง เขื่อนห้วยยาง และเขื่อนห้วยโสมง เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎร  ใช้ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปี นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง ในอีกหลายโอกาสตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการชลประทานประเภทอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำห้วยพระปรง และลุ่มน้ำห้วยโสมง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปราจีนบุรีหรือแม่น้ำบางปะกง เนื่องจากเห็นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี และลุ่มน้ำบางปะกงตอนบนได้ และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ได้อีกด้วย ดังพระราชดำรัสที่ว่า

“…ควรพิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำห้วยโสมง ทำเลที่สร้างเขื่อน พิกัด ๔๘ PSA ๘๐๖-๕๘๕ แผนที่มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ระหว่าง ๕๔๓๗ III โดยด่วน ทั้งนี้ควรพิจารณาเก็บกักน้ำอย่างเต็มที่เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรสองฝั่งห้วยโสมง ในเขตอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปี…” 

                พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการห้วยโสมง จังหวัดปราจีนบุรีถึง ๖ ครั้ง นับตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ เป็นต้นมา โดยครั้งสุดท้ายทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ความตอนหนึ่งว่า 

 “... โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี และสระแก้ว ตามพระราชดำริ อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำพระปรง อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน อ่างเก็บน้ำท่ากระบาก และอ่างเก็บน้ำอื่น ๆ เป็นโครงการที่ดีมากทำให้มีปริมาณน้ำใช้เพิ่มมากขึ้น และผลที่ได้รับเพิ่มเติม ก็คือ ทำให้ดินมีการพัฒนาตามมาด้วย ...” 

กรมชลประทานสนองพระราชดำริโดยได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมเสนอแผนแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้วเสร็จ เมื่อปี ๒๕๓๘ และได้มีการแก้ไขรายงานฯ อีกรวม ๒ ครั้งในปี ๒๕๔๖ ต่อมาได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่แล้วเสร็จในปี ๒๕๕๐ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการห้วยโสมง วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๒ และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการห้วยโสมงฯ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๒ 

และเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ สำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือ ที่ รล ๐๐๐๘/๔๘๗๔ ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ถึง สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความว่า “โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ยังไม่พิจารณาผ่านโครงการนี้ ซึ่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชกระแสให้สอบถามว่าจะสามารถสร้างได้หรือไม่” และให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนและแนวทางการดำเนินงานโครงการดังกล่าว

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้เสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ ได้ทรงมีข้อห่วงใย และมีพระราชดำรัสกับ นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการที่อยู่ ในเขตพื้นที่ป่า โดยเห็นควรให้มีการฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ การประชาสัมพันธ์โครงการให้ทุกฝ่ายรับรู้และเข้าใจทั่วกัน

วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานชื่ออ่างเก็บน้ำห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า "อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา" อ่านว่า นะ-รึ-บอ-ดิน-ทระ-จิน-ดา มีความหมายว่า "อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" อยู่ในพื้นที่อำเภอนาดีกับกบินทร์บุรี ใช้เป็นแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่และป้องกันน้ำท่วม รักษาระบบนิเวศในแม่น้ำปราจีนบุรีและบางปะกง

 

วัตถุประสงค์

๑. เป็นแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนจำนวน ๑๑๑,๓๐๐ ไร่ และฤดูแล้งจำนวน ๔๕,๐๐๐ ไร่ ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

๒. ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบรี และลุ่มน้ำสาขา ในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

๓. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรและการประปา

๔. ช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง

๕. อ่างเก็บน้ำจะเป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติ ทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้โอกาส การเกิดไฟไหม้ป่าลดลง หรือหากเกิดไฟป่าก็จะมีแหล่งน้ำต้นทุนที่จะสามารถนำน้ำมาใช้ดับไฟป่าได้

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

โครงการห้วยโสมงเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ พื้นที่อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตตำบลแก่งดินสอ และพื้นที่ชลประทานอยู่ในเขตตำบลแก่งดินสอ อำเภอ นาดี ตำบลเมืองเก่า ตำบลบ่อทอง และตำบลบ้านนา อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ลักษณะเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam) ความสูงประมาณ ๓๓ เมตร ความยาวประมาณ ๓,๙๗๐ เมตร และทำนบดินปิดช่องเขาต่ำ จำนวน ๒ แห่ง อ่างเก็บน้ำมีความจุ ๒๙๕ ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำและระบายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน ๑๑๑,๓๐๐ ไร่

 

คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๒ มีระยะเวลาดำเนินการ ๙ ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๖๑) งบประมาณ ๘,๓๐๐ ล้านบาท และกรมชลประทาน ได้ทำสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ ๓๑สิงหาคม ๒๕๕๓ (ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ - ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๔)

เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี (ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก) และนายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการ กปร. ได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือเรื่องแนวทางการดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๓ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี พร้อมกับเลขาธิการ กปร. รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมชลประทาน รองอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และหน่วยงาน  ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก และโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้ให้นโยบายแก่คณะทำงาน ความว่า “ขอให้มีการชดเชยค่าเสียหายแก่ราษฎรอย่างเป็นธรรม” 

 

ประโยชน์ของโครงการ

๑. เป็นแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนจำนวน ๑๑๑,๓๐๐ ไร่ และฤดูแล้งจำนวน ๔๕,๐๐๐ ไร่ ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

๒. ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบรี และลุ่มน้ำสาขา ในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

๓. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรและการประปา

๔. ช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง

๕. อ่างเก็บน้ำจะเป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติ ทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้โอกาส การเกิดไฟไหม้ป่าลดลง หรือหากเกิดไฟป่าก็จะมีแหล่งน้ำต้นทุนที่จะสามารถนำน้ำมาใช้ดับไฟป่าได้

 

 

แหล่งที่มา https://www.porpeang.org/content/๖๑๔๑/โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ-จังหวัดปราจีนบุรี