กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ "เส้นทางเกลือ"

Release Date : 06-09-2021 00:00:00
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ "เส้นทางเกลือ"

เส้นทางเกลืออันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ ตามหลักสังคมวิทยาการแพทย์ (Medical Sociology)

“...ให้พิจารณาแก้ไขปัญหาของการขาดสารไอโอดีนของราษฎรโดยการสำรวจพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ ถึงปัญหาและความต้องการเกลือ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นที่จะมีปัญหาและความต้องการไม่เหมือนกันโดยเฉพาะต้องสำรวจ  เส้นทางเกลือว่าผลิตจากแหล่งใด ก็น่าที่จะนำเอาไอโอดีนไปผสมกับแหล่งผลิตต้นทางเกลือเสียเลยทีเดียว...”

                                พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรนั้น ทรงพบว่าปัญหาการขาดสารไอโอดีนจนเกิดเป็นโรคคอพอกนั้น ยังมีอยู่มากมายหลายพื้นที่ และยามที่เสด็จพระราชดำเนินไปในท้องที่ทุรกันดารนั้นมีผู้คนที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทจำนวนมากที่เป็นโรคนี้ และขอรับการรักษาจากคณะแพทย์หลวงที่ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระเมตตาและสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนเป็นอย่างมาก ถึงกับเคยทรงนำเกลือผสมไอโอดีนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปทรงแจกประชาชนในถิ่นทุรกันดารมาแล้วหลายครั้ง เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมกิจกรรมของวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ซึ่งในการนี้ ได้ทอดพระเนตรการสาธิตการทำงานของเครื่องผสมเกลือไอโอดีน ซึ่งทางวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ได้ผลิตขึ้น และน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานให้แก่จังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือที่ราษฎรประสบปัญหาของการขาดสารไอโอดีน

 

 

วิธีการดำเนินการตามแนวพระราชดำริ เส้นทางเกลือ

๑. ศึกษาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสารไอโอดีน โดยการค้นหาเส้นทางเกลือ ตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงผู้บริโภค

๒. นำไอโอดีนไปผสมที่แหล่งผลิตหรือแหล่งจัดจำหน่ายโดยเติมให้ฟรีก่อน หากภายหลังพ่อค้าและภาคเอกชนเกิดศรัทธาสมทบก็สามารถทำได้

๓. หากบางท้องที่ไม่อาจเติมไอโอดีนที่แหล่งต้นทางได้ ทรงแนะนำว่าควรนำเครื่องเกลือผสมไอโอดีนไปบริการในลักษณะหน่วยบริการเคลื่อนที่เข้าไปในหมู่บ้านต่าง ๆ กล่าวคือ ใครมีเกลืออยู่แล้วก็ผสมให้ฟรี หรืออาจเอาเกลือธรรมดามาแลกกับเกลือผสมไอโอดีนก็ได้

๔. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงกำหนดให้ใช้อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภอต้นแบบในการศึกษาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสารไอโอดีน ว่ามีเส้นทางเกลือ มาจากแหล่งใด

ผลการสำรวจ เส้นทางเกลือ  จากการค้นคว้า เส้นทางเกลือ ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๓๖ เป็นต้นมาสรุปได้ว่า

๑. เกลือผสมไอโอดีนส่วนใหญ่เป็นเกลือป่น

๒. เกลือที่ไม่ได้ผสมสารไอโอดีนเพิ่มเข้าไปจะมีทั้งเกลือป่นและเกลือเม็ด

๓. เกลือป่นส่วนใหญ่เป็นเกลือสินเธาว์จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเกลือเม็ด

๔. ส่วนใหญ่เป็นเกลือสมุทรจาก จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเพชรบุรี

เส้นทางเกลือที่ไม่ผสมไอโอดีน มีแหล่งผลิตและจำหน่ายที่สำคัญ รวม ๔ เส้นทาง คือ

ส่วนที่ ๑ จาก จังหวัดสมุทรสาคร เป็นแหล่งรวมเกลือสมุทรจากจังหวัดเพชรบุรีและสมุทรสงครามส่งไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ และส่งขายต่อร้านค้าย่อยในอำเภอสะเมิง 

ส่วนที่ ๒ พ่อค้าจากจังหวัดเชียงใหม่ซื้อตรงจากสมุทรสาคร โดยรถสิบล้อบรรทุกขึ้นมาแล้วมาบรรจุใส่ซองพลาสติกใสนำขึ้นรถปิคอัพเร่ขายในอำเภอสะเมิงและพื้นที่ใกล้เคียง 

ส่วนที่ ๓ พ่อค้าจากจังหวัดมหาสารคาม มีการซื้อเกลือสินเธาว์ป่นแถบอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี และย่านหนองกวั่ง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร มาบรรจุซองที่จังหวัดมหาสารคาม แล้วนำเกลือไปเร่ขายทั่วประเทศโดยใช้รถหกล้อ ซึ่งมีการส่งขายถึงจังหวัดเชียงใหม่ และเข้าสู่อำเภอสะเมิงในที่สุด

ส่วนที่ ๔ จากกรุงเทพมหานคร โดยพ่อค้ารายใหญ่จัดส่งไปขายที่จังหวัดเชียงใหม่และแถบใกล้เคียงโดยใช้เกลือสมุทรธรรมดา

 

วิธีการผลิตเกลือเสริมไอโอดีนหรือเกลืออนามัย

โดยปกติแล้วคนเราต้องการธาตุไอโอดีนวันละประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ ไมโครกรัมในปริมาณเกลือที่บริโภคต่อวัน เฉลี่ย ๕.๔ กรัม อัตราส่วนเกลือไอโอดีน ต้องใช้ปริมาณไอโอเดทที่เสริมในเกลืออัตราส่วน ๑:๒๐,๐๐๐ โดยน้ำหนักเกลือ ๑ กิโลกรัม ต้องเสริมโปแตสเซียมไอโอเดท ๕๐ มิลลิกรัม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับไอโอดีนวันละ ๑๕๐ ไมโครกรัมต่อคนต่อวัน โปแตสเซียมไอโอเดท ๑ กิโลกรัม ผสมเกลือได้ ๑๘ ตัน ซึ่งมีหลายวิธีการ ดังนี้

 

การเสริมไอโอดีนในเกลือโดยใช้วิธีผสมเปียก

โดยการใช้ผงไอโอเดทปริมาณ ๒๕ กรัม ผสมกับน้ำจำนวน ๑ ลิตร ซึ่งผลการทดลองของวิทยาลัยเทคนิคสกลนครสามารถผลิตเกลือผสมไอโอดีนได้ครั้งละ ๖๐ กิโลกรัม โดยการพ่นฉีดแต่ละครั้ง ๖๐ กิโลกรัม โดยการพ่นฉีดแต่ละครั้ง จะใช้ไอโอดีนน้ำผสมประมาณครั้งละ ๒๐๐ ซีซี ต่อเกลือจำนวน ๖๐ กิโลกรัม ซึ่งพบว่าได้ความเข้มข้นของไอโอดีนสม่ำเสมอดี

การเสริมเกลือไอโอดีนแบบผสมแห้ง

เป็นเครื่องผสมเกลือไอโอดีนที่ดำเนินการได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงโดยใช้วิธีผสมแห้ง และใช้หลักการทำงานของเครื่องผสมทรายหล่อ และหลักการทำงานของเครื่องไซโลผสมอาหารสัตว์มาเป็นการทำงานของเครื่องผสมเกลือไอโอดีน ซึ่งใช้สะดวก กระทัดรัด ประหยัด ผสมได้ครั้งละ ๖๐ กิโลกรัม โดยใช้ใบกวนหมุนภายในถังที่ตรึงอยู่กับที่ โดยให้ความเร็วของการหมุนใบกวนสัมพันธ์กับลักษณะของใบกวนที่วางใบให้เป็นมุมเอียง เพื่อให้เกลือไหลและเกิดการพลิกตลอดเวลา ใช้เวลาในการคลุก ๒ นาที โดยการหมุนทวนเข็มนาฬิกา ในกรณีที่มีความประสงค์จะผสมเกลือไอโอดีนด้วยตนเอง ก็สามารถทำได้ในอัตราส่วนดังกล่าว โดยใช้กะบะและไม้พายผสมโดยใช้แรงคนใช้เวลาผสมประมาณ ๒๐-๓๐ นาที หรือนานกว่าจึงจะได้ส่วนผสมที่ใช้การได้

เส้นทางเกลือจึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงห่วงใยในทุกวิถีแห่งการดำรงชีพของมวลพสกนิกรทั้งหลายโดยแท้

 

อ้างอิง : มูลนิธิชัยพัฒนา Nation Live

แหล่งที่มา https://www.porpeang.org/content/6075/เส้นทางเกลืออันเนื่องมาจากพระราชดำริ-ตามหลักสังคมวิทยาการแพทย์-medical-sociology