กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “คณะแพทย์พระราชทาน”

Release Date : 02-09-2021 00:00:00
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “คณะแพทย์พระราชทาน”

"...ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแล บำบัดทุกข์ให้แก่เด็กนักเรียน และประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปบนรถยนต์ และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท..."

                        พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพบว่าราษฎรเป็นจำนวนมากขาดการดูแลรักษาในด้านสุขภาพอนามัย โครงการ  หน่วยแพทย์พระราชทานจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ครั้งที่พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวลหัวหิน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนยารักษาโรค ออกทำการตรวจรักษาและพยาบาลราษฎรโดยไม่คิดมูลค่า ในท้องถิ่นกันดารในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีหน่วยแพทย์ทางราชการเข้าไปถึง และครั้งนั้นทรงพบอีกว่า ราษฎรป่วยเป็นโรคฟันและโรคในช่องปากจำนวนมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ประกอบด้วยทันตแพทย์ ทันตนามัย รถยนต์ขนาดใหญ่ ๑ คัน มีเก้าอี้ทำฟัน ตลอดจนเครื่องมือทำฟันครบชุด ออกทำการตรวจและรักษาโรคฟันให้แก่ราษฎรพร้อมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ต่อมา เมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมเพื่อเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์ จึงได้ขยายขอบข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะงานได้เป็น ๒ ประการ คือ

๑. การให้การบำบัดรักษาโดยการตรวจจากคณะแพทย์พระราชทาน ซึ่งอาจแบ่งออกได้ ดังนี้

   ๑.๑ แพทย์ประจำพระองค์ และแพทย์ตามเสด็จ นำโดยนายแพทย์ประจำพระองค์จะตามเสด็จ ไปทำการตรวจรักษาราษฎรที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมตามหมู่บ้านต่าง ๆ

   ๑.๒ หน่วยแพทย์หลวงของกองแพทย์หลวง สำนักพระราชวังและเจ้าหน้าที่

   ๑.๓ คณะแพทย์ตามพระราชประสงค์ เป็นแพทย์อาสาที่มาจากหลายสาขาวิชา หลายหน่วยงาน ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับคณะแพทย์อื่น ๆ และแพทย์ที่ประจำตามหน่วยรักษาพยาบาลท้องถิ่น คือโรงพยาบาลของจังหวัดที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ คณะแพทย์ตามพระราชประสงค์นับว่าเป็นคณะที่มีจำนวนมากที่สุด จากหลายสาขาวิชา อาจแบ่งได้เป็นดังนี้

         ๑.๓.๑ คณะแพทย์อาสาจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

         ๑.๓.๒ คณะศัลยแพทย์อาสา จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

         ๑.๓.๓ คณะศัลยแพทย์อาสา จากโรงพยาบาลศิริราช

         ๑.๓.๔ คณะแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้

         ๑.๓.๕ หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ จากกรมแพทย์ทหารบก

         ๑.๓.๖ คณะจักษุแพทย์

 

แพทย์พระราชทานดังกล่าว จะจัดชุดทำงานตามสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้

๑. โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ ได้แก่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดทหารบกเชียงใหม่

๒. บริเวณที่ตรวจโรคหน้าภูพานราชนิเวศน์ และทักษิณราชนิเวศน์

๓. ตามเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพยาบาลยังหมู่บ้านต่าง ๆ

 

ราษฎรเจ็บป่วยดังกล่าว หากไม่จำเป็นต้องรับเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล แพทย์จะให้การรักษาพยาบาลที่จำเป็นและถูกต้องอย่างดีที่สุด ในกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยในขั้นที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ก็พระราชทานพระมหากรุณาให้ราษฎรเหล่านั้นเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในต่างจังหวัดหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ แล้วแต่ความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจวินิจฉัยโรคและความรุนแรงของโรคที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้น โดยมีราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นผู้รับสนองไปดำเนินการปฏิบัติ

ผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระตำหนักตั้งอยู่ จะได้รับการเยี่ยมเยียนติดตามเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่จากกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นระยะ ๆ จนกว่าผู้ป่วยเหล่านั้นจะออกจากโรงพยาบาลไป

หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับผู้ป่วยด้านธุรการ (นอกจากการตรวจรักษา) คือ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งจะดำเนินการตั้งแต่การรับผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล จนถึงส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ผู้ป่วยจะได้รับการติดตามดูแลจากเจ้าหน้าที่แผนกคนไข้ของกองราชเลขานุการฯ ดังกล่าว การพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่ราษฎรเจ็บป่วยเหล่านี้ มิได้จำกัดเฉพาะตัวผู้ป่วยเองเท่านั้น หากยังครอบคลุมไปถึงครอบครัวของผู้ป่วยด้วย เช่น ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในกรุงเทพมหานครบางรายต้องมีภาระเลี้ยงดูบิดา มารดา ที่ชราแล้ว หรือบุตรที่ยังเล็กอยู่ กองราชเลขานุการฯ จะจัดการฝากฝังให้มีผู้ดูแลบุคคลเหล่านั้นไว้แทนผู้ป่วย โดยอาจส่งเงินค่าเลี้ยงดูไปให้หรือ   ฝากฝังให้เจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเยียนดูแล แล้วรายงานมาให้ทราบเป็นระยะ ๆ เป็นต้น หากผู้ป่วยเจ็บป่วยจนไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรต่อไปได้ หรือพิการ หรือเสียชีวิต บุตรที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนก็จะได้รับพระราชทานการศึกษา ตามสมควรอีกด้วย

 

๒. การอบรมหมอหมู่บ้านตามพระราชดำริ นอกจากหน่วยแพทย์พระราชทานที่จะรักษาพยาบาลผู้ป่วยระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่าง ๆ แล้ว พระองค์ทรงห่วงใยราษฎรเหล่านั้นว่า หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานครแล้ว เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วยจะไม่มีใครดูแลเพราะอยู่ในท้องถิ่นห่างไกลการคมนาคมไม่สะดวก จึงมีพระราชดำริให้คัดเลือกราษฎรอาสาสมัครตามหมู่บ้านต่าง ๆ มารับการอบรมหลักสูตรหมอหมู่บ้าน โดยเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ทั้งนี้ เพื่อให้ราษฎรที่ได้รับการอบรมเหล่านี้ได้นำความรู้กลับไปช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นของตน การอบรมจะเน้นในเรื่องการสาธารณสุขมูลฐาน เช่น  การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเวชศาสตร์ป้องกันอย่างง่าย ๆ การโภชนาการ (โดยเฉพาะแม่และเด็ก) การติดต่อ  กับเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลของรัฐ คือ สถานีอนามัยจนถึงโรงพยาบาล อำเภอและจังหวัด เจ้าหน้าที่ที่มาให้  การสนับสนุนในการอบรมมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งพลเรือนและทหาร ทั้งฝ่ายปกครอง และฝ่ายการแพทย์ สถานที่ดำเนินการฝึกอบรม ได้แก่ โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส โรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดทหารบกเชียงใหม่

งานทั้งสองลักษณะข้างต้น มีพื้นที่ครอบคลุมในภาคเหนือตอนบน ประมาณ ๑๐ จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๘ จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ เลย และในภาคใต้ ๔ จังหวัด คือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา

 

 

แหล่งที่มา https://www.porpeang.org/content/6100/คณะแพทย์พระราชทานและหมอหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริ