กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “การศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ในที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา” จังหวัดนครนายก

Release Date : 30-08-2021 00:00:00
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “การศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ในที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา” จังหวัดนครนายก

“...ดิน ที่เปรี้ยว ก็คือที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นจังหวัดที่ชื่อนครนายก ไม่ใช่นากรัฐมนตรีเป็นนายก คือว่านาเขายกภาษี เพราะว่าทุกปีผลผลิตจะไม่ได้ตั้งแต่สมัยเก่า แต่ถ้าหากว่าทำดินให้หายเปรี้ยว หรือหาวิธีที่จะทำกสิกรรมในที่ดินเปรี้ยวอย่างดี อย่างไรผลก็จะเป็นจังหวัดอาจเปลี่ยนชื่อจังหวัดเป็นนาสมบูรณ์ ที่นครนายกมีที่เป็นแสนไร่ ก็นายก ทั้งนั้น ถ้าสามารถที่จะทำการทดลองและเป็นตัวอย่าง เข้าใจว่าอาจทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะว่าทางภาคใต้ได้ทำที่จังหวัดนราธิวาส เป็นพรุได้ชื่อว่าเปรี้ยวแท้ ๆ ได้ทำโครงการ สามารถที่จะปลูกข้าวและทำกสิกรรมในที่พรุแท้ ๆ โดยใช้วิธีขุดสระและกรุด้วยหินปูนและใส่หินฝุ่นเข้าไปเพื่อให้น้ำไม่เปรี้ยว แล้วส่งไปตามคลองตามท่อก็ได้ผล จนกระทั่งเห็นว่าชาวบ้านที่ตรงนั้น หมู่บ้านแถวนั้นเคยจนไม่มีกิน บัดนี้เริ่มยิ้มแย้มแจ่มใสเพราะทำกสิกรรมได้ผล...”

                                      พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

                                                                                                         เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๑

 

ด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระทัยและให้ความสำคัญในงานอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน ที่มีสภาพธรรมชาติและปัญหาที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยเขียนไว้ในเอกสารพระราชทานว่า “ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรกรรม ต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ ดังนี้ มีแร่ธาตุที่เรียกว่า ปุ๋ย ส่วนประกอบสำคัญคือ N (nitrogen) ในรูป nitrate, P (phosphorus) ในรูป phosphate , K (potassium) และแร่ธาตุ อื่น ๆ เช่น O H Mg Fe มีระดับ เปรี้ยว ด่าง ใกล้เป็นกลาง (pH ๗) มีความเค็มต่ำ มีจุลินทรีย์ มีความชื้นพอเหมาะ (ไม่แห้ง ไม่แฉะ) มีความโปร่งพอเหมาะ (ไม่แข็ง)” จึงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เน้นเฉพาะเรื่อง เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินทราย ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินพรุในภาคใต้ และที่ดินชายฝั่งทะเล รวมถึงการแก้ไขปรับปรุงและฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมพังทลายจากการชะล้างหน้าดิน ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดิน  เพื่อการเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีปัญหาดินเสื่อมโทรม เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินจากหลาย ๆ สาเหตุ กลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีก โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ในระยะหลัง จึงเป็นการรวบรวมความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติจากหลากหลายสาขา มาใช้ร่วมกันในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ แนวคิดและตัวอย่างการจัดการทรัพยากรดินในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๖ แห่ง ที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำเป็นตัวอย่างในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การขยายพันธุ์พืชเพื่ออนุรักษ์ดินและบำรุงดิน และสนับสนุนให้เกษตรกรเรียนรู้เข้าใจวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน สามารถนำไปปฏิบัติได้เอง ทรงมีพระราชดำรัสว่า “การปรับปรุงที่ดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถ หรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้น ที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื่นของผืนดิน” 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๐ และ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๐ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงมีพระราชกระแสกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ในที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยรับสั่งให้ดำเนินการในที่ดิน ดังนี้

แปลงที่ ๑ (เนื้อที่ ๕๐ ไร่) ให้ดำเนินการศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวโดยวิธีธรรมชาติ คือ ใช้น้ำฝนชะล้างความเปรี้ยวเพียงอย่างเดียว โดยการขุดบ่อ ๒ บ่อ บ่อละ ๖ ไร่ ลึก ๔ เมตร รอบ ๆ บ่อให้ทดลองปลูกแฝก จากนั้นให้ถ่ายน้ำออกเพื่อชะล้างความเป็นกรดจากบ่อหนึ่งไปยังอีกบ่อหนึ่งหลาย ๆ ครั้งในฤดูฝน ตรวจสอบความเป็นกรดของน้ำว่าเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ถ้ายังไม่เปลี่ยนแปลงให้เติมวัสดุปูน เพื่อปรับค่าความเป็นกรดเล็กน้อยและเติมปุ๋ยยูเรียลงไป จากนั้นให้สังเกตดูว่ามีสาหร่ายขึ้น และความเป็นกรดของน้ำลดลงหรือไม่ 

แปลงที่ ๒ (เนื้อที่ ๓๐ ไร่) ให้ขุดสระ ๒ สระ เพื่อไว้เก็บน้ำและให้นำน้ำจากภายนอกโครงการมาดำเนินการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวควบคู่ไปกับการใช้วัสดุปูน เพื่อจัดทำแปลงเกษตรตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่

แปลงที่ ๓ (เนื้อที่ ๔๐ ไร่) ให้ดำเนินการจัดทำศูนย์ฝึกอาชีพ และฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจ ต่อมาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ โดยให้ทดลองปลูกต้นกก กระจูด พืชน้ำ และไม้ดอก ไม้ประดับ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ตลอดจนให้นำพันธุ์ไม้จากป่าพรุ ที่จังหวัดนราธิวาส และไม้เสม็ดมาทดลองปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่มีลักษณะคล้ายพื้นที่พรุ และเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ให้นำผลไปขยายในแปลงเกษตรกร เพื่อเป็นตัวอย่างในการทำแปลงทฤษฎีใหม่บนดินเปรี้ยวด้วย

 

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อศึกษาทดลองหาวิธีทางธรรมชาติในการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว และน้ำเปรี้ยว ด้วยการใช้น้ำฝน ชะล้างความเปรี้ยวให้ออกไปจากดิน และทำให้น้ำเปรี้ยวในสระเปรี้ยวน้อยลง ซึ่งทรงรับสั่งว่าเป็นทฤษฎีใหม่ขั้นต้น (Pre-new theory)

๒. เพื่อศึกษาทดลองการทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่บนพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด โดยใช้รูปแบบแตกต่างกันเพื่อปลูกพืชโดยมีวิธีการจัดการดินและน้ำที่เหมาะสม

๓. เพื่อให้ทราบทางเลือกในการจัดการดินและน้ำที่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตรบนพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดโดยยึดแนวพระราชดำริเป็นหลัก

๔. เพื่อจัดทำศูนย์ฝึกอบรม และฝึกอาชีพสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ดินเปรี้ยว ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม และมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น

๕. เพื่อจัดทำเป็นศูนย์บริการทางวิชาการ และเป็นศูนย์สาธิตการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว สำหรับใช้ทำการเกษตร และใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบต่าง ๆ

 

ปัจจุบันโครงการศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา ต.บ้านพริก อ.บ้านนา จ.นครนายก เป็นประโยชน์มหาศาลต่อพสกนิกรชาวไทยในการเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรมในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการอนุรักษ์ดินให้เหมาะสมแก่การเกษตรซึ่งถือเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านแหล่งอาหารของชาติ

 

 

แหล่งที่มา https://www.porpeang.org/content/๖๐๕๔/โครงการศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ-ในที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา-จังหวัดนครนายก