กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

สืบสานแนวพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ พลิกฟื้น "หนองอึ่ง" ด้วยน้ำพระราชหฤทัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

Release Date : 09-08-2021 00:00:00
สืบสานแนวพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐  พลิกฟื้น "หนองอึ่ง" ด้วยน้ำพระราชหฤทัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้มีการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ "หนองอึ่ง" โดยรวม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร

 

ย้อนกลับไปก่อนปี ๒๕๔๓ พื้นที่บริเวณหนองอึ่งครอบคลุม ๗ หมู่บ้านของ ต.ค้อเหนือ อ.เมือง จ.ยโสธร มีสภาพลุ่มต่ำ ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปีในช่วงหน้าฝน สร้างความเสียหายทั้งไร่นา ถนนหนทาง ขณะที่ พอถึงหน้าแล้งน้ำท่ากลับไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องบุกรุกป่าหาที่ทำกินใหม่ สภาพป่าจึงเริ่มเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่จนต้องอพยพเข้าเมืองใหญ่หวังยกระดับความเป็นอยู่ จนเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (เมื่อครั้งทรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) ทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัยซ้ำซาก   ณ โรงเรียนบ้านคำน้ำสร้าง ต.ค้อเหนือ อ.เมือง จ.ยโสธร    

 

 

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ มีพระราชดำริ ให้มีการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่โดยรวม ได้แก่ การขุดลอกหนองอึ่งเพื่อเป็นแหล่งน้ำทำการเกษตรและขยายพันธุ์ปลา การปรับปรุงสภาพดินโดยรอบหนองอึ่ง โดยปลูกต้นไม้และหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และฟื้นฟูสภาพป่าโดยรอบหนองอึ่ง เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูลกัน และเพื่อเป็นการเผยแพร่ความสำเร็จของโครงการพระราชดำริ ซึ่งได้มีการต่อยอดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ จึงได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรไปเยี่ยมชมความสำเร็จของ “ชุมชนเข้มแข็ง สืบสานแนวพระราชดำริ” ในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในรัชกาลที่ ๑๐ จ.ยโสธร อันเป็นแบบอย่างที่น่าเรียนรู้จากการ  ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งพระราชปณิธานไว้ว่าจะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวทางของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อเร็ว ๆ นี้

 

ระหว่างที่พาคณะเยี่ยมชมส่วนต่าง ๆ ของโครงการ สมศักดิ์ ทวินันท์ หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง เล่าย้อนให้ฟังว่า ในอดีตปัญหาหลัก ๆ ของพื้นที่แถบนี้ประสบอุทกภัยซ้ำซาก โดยเฉพาะฤดูน้ำหลากช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมทุกปี น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์กับเขื่อนลำปาวจะมาบรรจบกันที่นี่ น้ำเข้าท่วมที่นาจนชาวบ้านทำนาปีไม่ได้ ทุกวันนี้ดีขึ้นมากหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งทรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร จึงทรงให้ริเริ่มโครงการพระราชดำริต่าง ๆ การสัญจรไปมาสะดวกขึ้น เพราะถนนได้ยกพื้นสูงเป็น ๑ เมตร เข้าสู่บริเวณหนองอึ่งระยะทาง ๑๕ กิโลเมตรจากถนนใหญ่ การขุดลอกหนองอึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ชาวบ้านได้รับการจัดสรรพื้นที่โดยรอบเพื่อทำการเกษตร นอกจากนี้ยังได้จัดพื้นที่โซนนิ่งบริเวณหนองอึ่งประมาณ ๑๒๐ ไร่ ให้ชาวบ้านท่าเยี่ยม ๑๒๐ ครัวเรือนได้มีที่ดินทำกิน ทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง 

 

 

ในส่วนของป่าชุมชนดงมันที่อยู่ติดกับหนองอึ่งรวม ๓,๐๐๐ ไร่ ในอดีตชาวบ้านได้เข้าบุกรุกเพื่อทำการเกษตรถึง ๑,๕๐๐ ไร่  ปัจจุบันได้คืนพื้นที่ป่ามาทั้งผืน มีการส่งเสริมการป้องกันรักษาป่า มีการบริหารจัดการในรูปป่าชุมชน ทำให้ป่ามีความสมบูรณ์กว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ โดยทางการได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไม้ตระกูลยาง  ซึ่งเชื้อเห็ดป่าจำพวกเห็ดเผาะ เห็ดโคน เห็ดตะไคล เห็ดระโงก มักอยู่ในรากของต้นไม้ตระกูลนี้ ทำให้ชาวบ้านได้ทั้งปลูกป่า และยังสามารถหาของป่าได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่หาได้มีมูลค่าปีละล้านบาท เดี๋ยวนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว  อีกทั้งชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันตั้งเป็นสหกรณ์ มีสมาชิกกว่า ๗๐ ราย ช่วยกันแปรรูปเห็ดป่าและไข่มดแดงที่หาได้ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มอีกทาง

“เราส่งเสริมแบบบูรณาการทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะทำเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ทำให้ชาวบ้านมีการกินอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนด้านสังคม ชุมชนมีความเข้มแข็ง จากเมื่อก่อนต่างคนต่างอยู่ ก็ร่วมมือกันและให้ความร่วมมือกับทางการเป็นอย่างดี ถือว่าโครงการพระราชดำรินี้ทำให้ชาวบ้านทั้ง ๗ หมู่บ้าน มีความเข้มแข็ง และสมัครสมานสามัคคีกัน” หัวหน้าโครงการ เผยพร้อมกับเสริมว่าโครงการพระราชดำริยังเป็นเวทีให้ชาวบ้านมาเรียนรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องเศษฐกิจ สังคม ถือว่ามีการพัฒนาอย่างเด่นชัด เป็นตัวอย่างของความสำเร็จ จนมีการขยายพื้นที่พัฒนาไปอย่างกว้างขวางทั้งในยโสธรเองและจังหวัดใกล้เคียง  

 

โครงการพระราชดำริพลิกฟื้นความเป็นอยู่ได้อย่างยั่งยืน แม่เฒ่าวัย ๖๘ ปี โสม สายโรจน์ ชาวบ้าน  คำน้ำสร้าง หมู่ ๑๑ ต.ค้อเหนือ รองประธานคณะกรรมการดำเนินงานโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากป่า  วนาทิพย์” เล่าด้วยใบหน้าเปี่ยมสุขว่า ทำนาปีบางครั้งน้ำท่วมข้าวก็เสียหาย จึงต้องทำนาปรังแทน ที่นา ๒๐ ไร่ ได้ข้าว ๘ ตัน มีรายได้ ๒-๓ หมื่นบาทต่อปี ช่วงที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ มา ได้นำโครงการมาพัฒนาหมู่บ้าน โดยเฉพาะการปลูกป่า ทำให้ป่าหมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ มีเห็ดขึ้นให้เก็บมากกว่าแต่ก่อน หลังเก็บเกี่ยวข้าวก็จะเข้าป่าเก็บเห็ดขายเป็นรายได้เสริม ถ้าไม่มีพระองค์ท่านก็คงไม่ได้ลืมตาอ้าปากอย่างทุกวันนี้

 

“พอรู้ว่าจะมีโครงการจากพระองค์ท่านเข้ามา ชาวบ้านพากันดีใจจนน้ำตาไหล ตอนนี้เป็นสมาชิกกลุ่มเห็ดเผาะ เห็ดโคน ไข่มดแดง ทำเห็ดกระป๋อง เอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาใช้ แล้วช่วยกันปลูกป่า หวงแหนป่า เพราะเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ของพวกเรา ที่สำคัญไม่ต้องดิ้นรนไปไหน อยู่บ้านก็มีกิน ถ้าขยันทำมากก็ได้มาก เห็ดเผาะเห็ดโคนกระป๋องของเราเป็นโอท็อป ๕ ดาวของชุมชนด้วย รายได้ดีขึ้นชีวิตก็ดีขึ้น” ป้าโสม กล่าว  

 
 

 

ขณะที่แม่ - ลูก เกษร รสภา วัย ๖๓ ปี และ นันทา ชัยยะ วัย ๓๙ ปี ชาวบ้านท่าเยี่ยม หมู่ ๑๐ ต.ค้อเหนือ สมาชิกศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ บ้านคำน้ำสร้าง นันทา เล่าว่า ตอนน้ำท่วมซ้ำซากชีวิตลำบากมาก ไม่รู้จะทำอะไร จึงเข้ากรุงเทพฯ ไปทำงานอยู่โรงงานพลาสติก ๑๐ ปี พอมีโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ แม่ก็เรียกให้กลับมาช่วยกันทำมาหากิน ตอนนี้ทำเกษตรพอเพียงได้ ๑๓ ปีแล้ว มีความสุขกว่าอยู่กรุงเทพฯ ไม่ต้องดิ้นรน หน้านาก็ทำนาพร้อมกับปลูกพืชผักสวนครัวเป็นอาชีพเสริม มีกินมีเก็บบ้าง ได้อยู่พร้อมหน้าครอบครัว นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ทุกครั้งที่นึกถึงพระองค์จะตื้นตันจนน้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว เคยได้ยินที่ใคร ๆ พูดว่าพระองค์ท่านเสด็จฯ ไปที่ไหน ความเจริญไปถึงที่นั่นเป็นเรื่องจริง

 

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว มหาวชิราวงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ปัจจุบัน พื้นที่บริเวณหนองอึ่ง ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ในระยะยาว หากยังประโยชน์ให้คนในชุมชนได้มีแหล่งอาหาร อยู่ร่วมกับป่าแบบพึ่งพิง และสร้างรายได้เสริมอย่างยั่งยืน...ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน 

 

แหล่งที่มา  https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/๓๓๖๘๖๑