กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ”

Release Date : 05-08-2021 00:00:00
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ”

'โครงการหลวงเลอตอ' พลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดำเนินงานสนองพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานของมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา 

ตลอดระยะเวลา ๕๐ ปีการดำเนินงานโครงการหลวง ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ ล่าสุดมูลนิธิโครงการหลวง จัดโครงการเยี่ยมชมการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงทดแทนการปลูกฝิ่น และการทำไร่เลื่อนลอย ตามแนวทางพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ” อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงลำดับที่ ๓๕ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๕๙ และเป็นโครงการหลวงลำดับสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งนี้เพื่อดำเนินงานสนองพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานของมูลนิธิโครงการหลวงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่  ของชาวไทยภูเขา 

พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ รับผิดชอบครอบคลุม ๒ อำเภอ คือ อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง สภาพทั่วไปเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ห่างไกล ทุรกันดาร ราษฎรยากจน ดำรงชีพด้วยการปลูกฝิ่นและบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพด และด้วยความที่ชาวบ้านในพื้นที่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอร้อยเปอร์เซ็นต์ การเข้ามาทำงานในพื้นที่ปัญหาจึงเป็นไปด้วยความยากลำบากในการสื่อสารกับชาวบ้าน ทางโครงการหลวงจึงต้องหาเจ้าหน้าที่ที่สามารถพูดภาษาท้องถิ่นได้มาช่วยเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจและยอมรับ

สมชาย เขียวแดง

สมชาย เขียวแดง หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เล่าให้ฟังว่า ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เมื่อปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ ระบุว่าที่นี่เป็นแหล่งปลูกฝิ่นขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ มูลนิธิโครงการหลวงจึงเริ่มเข้าดำเนินงานพัฒนาชุมชนบ้านเลอตอ ด้วยการนำแนวทางพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ และประสบการณ์การพัฒนาพื้นที่สูงตลอดระยะเวลา ๕๐ ปีมารวมไว้ที่นี่ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือการส่งเสริมให้ชาวบ้าน มีอาชีพเป็นทางเลือก เพราะเรารู้อยู่ว่าถ้าตัดฝิ่นชาวบ้านจะเดือดร้อน หากยังไม่มีอาชีพรองรับ พวกเขาก็ไม่มีกิน ที่ผ่านมาชาวบ้านทำนาข้าวไม่พอกินผลผลิตต่อไร่ต่ำ พวกเขาจึงต้องถางป่าเพื่อปลูกข้าวไร่ และปลูกฝิ่นเพื่อให้มีรายได้ 

 

เส้นทางสู่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ

การส่งเสริมการทำนาและปลูกข้าวไร่ถือเป็นภารกิจหลักเพราะเป็นความมั่นคงทางด้านอาหาร ส่วนพืชรายได้อื่น ๆ เกษตรกรจะเป็นคนเลือกเอง ตอนที่โครงการหลวงเข้ามาในพื้นที่แรก ๆ เราส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชระยะสั้นอย่างถั่วแขก ซึ่งใช้เวลาเพียง ๑ เดือนสามารถเก็บผลผลิตได้ แต่เมื่อมีการส่งเสริมอย่างจริงจังปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อพบว่าชาวบ้านสามารถปลูกและเก็บผลผลิตได้ แต่เราไม่สามารถขนออกจากพื้นที่ไปขายได้ เนื่องจากถนนไม่ดี ส่งผลให้พืชผักเสียหายไม่ได้คุณภาพ จึงต้องกลับมาปรับกระบวนการกันใหม่ ด้วยการประสานกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ บูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน กระทั่งปี พ.ศ.๒๕๖๐ กรมทางหลวงชนบทได้จัดลำดับความสำคัญการพัฒนาเส้นทางขึ้น – ลงโครงการหลวงเลอตอเป็นลำดับแรก

 
 

ชาวบ้านและจิตอาสาช่วยกันปลูกหญ้าแฝก

อีกปัญหาหนึ่งคือ เลอตอมีความลาดชันสูงจึงต้องรณรงค์ปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยยึดดินที่มีลักษณะเป็นดินทราย อีกทั้งดินเป็นกรดจัด ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ สภาพภูมิอากาศฝนไม่ตกแต่ครึ้มตลอด ๔ เดือน ช่วงที่อากาศปิดถือเป็นข้อด้อยเพราะพืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ทำให้พืชอ่อนแอ เกิดการระบาดของโรคและแมลงต่าง ๆ เช่นพวกพืชผักแรก ๆ พบว่าเกิดโรคราลงคะน้าฮ่องกง ส่วนกวางตุ้งขอบใบเน่าทั้งหมด ตอนนั้นชาวบ้านผิดหวังมาก  เมื่อชาวบ้านขาดทุน โครงการหลวงก็ขาดทุน แต่ก็ทำให้เราได้ข้อมูลว่าแต่ละเดือนจะสามารถปลูกอะไรได้บ้าง หัวหน้าสมชายเล่าด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

แปลงปลูกเสาวรส

หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อธิบายต่อว่า ปัจจุบันเลอตอย่างเข้าสู่ปีที่ ๓ เกษตรกร ที่ได้รับการส่งเสริมมีกว่า ๓๐๐ ราย ผลผลิตหลักได้แก่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี คะน้าฮ่องกง เบบี้ฮ่องเต้ กวางตุ้ง ถั่วแขก มะเขือม่วงก้านเขียว ฟักทองญี่ปุ่น ถั่วฝักยาว พริกกะเหรี่ยง แตงกวา เคพกูสเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ อโวคาโด มะม่วง ลิ้นจี่ กาแฟ แต่ที่กำลังได้รับความนิยมมากที่สุดตอนนี้คือ “เสาวรส” เพราะการเก็บเกี่ยวสามารถรอได้ ผลผลิตออกช่วงปลายฝนซึ่งตรงกับวิถีชาวบ้าน อย่างช่วงนี้ชาวบ้านทำนา พอหมดฤดูกาลทำนาค่อยมาปลูกผัก ขณะที่เสาวรสจะสุกหรือจัดการภายในฤดูหนาวและฤดูแล้ง โดยเป้าหมายหลักของเราคือพยายามให้ชาวบ้านทำเกษตรในพื้นที่น้อย ๆ แต่ได้ผลผลิตสูง

แปลงปลูกกวางตุ้งและเบบี้ฮ่องเต้

สิ่งที่เรากำลังจะส่งเสริมต่อไปคือ “เกาลัดจีน” ด้วยสภาพพื้นที่เป็นป่าไม้ก่อ คิดว่าน่าจะฟื้นสภาพป่าโดยใช้ลักษณะของป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง คือให้ชาวบ้านปลูกเกาลัดจีน แมคคาเดเมีย เพราะแต่ละปีบ้านเรานำเข้าเกาลัดมาก จึงเริ่มเอามาปลูกที่นี่ปีนี้ เคยเอามาทดลองปีแรก ๆ ก็เริ่มเห็นดอก ด้านสายพันธุ์นั้นเรา  มีแหล่งปลูกอยู่ที่อ่างขาง คัดเลือกพันธุ์เรียบร้อย แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนรับเรื่องการขยายพันธุ์ ผมจึงอาศัยความได้เปรียบที่ที่อื่นไม่ทำ แต่ก็ต้องมีการอบรมเพื่อให้ปลอดภัยเรื่องสารเคมีและได้ตรงตามมาตรฐาน

นอกเหนือจากอาชีพการเกษตร พบว่ายังมีหัตถกรรม เครื่องจักสาน ปศุสัตว์ ที่เข้ามาสำรวจที่นี่ มีโคกระบือ ค่อนข้างเยอะ แล้วเป็นธนาคารของเขา เราเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงด้วยวิธีการสร้างแปลงหญ้า อาหาร ดูแลเรื่องสุขภาพ จากข้อมูลที่สำรวจที่นี่มีกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง ประมาณ ๑๕ เชือก ชาวบ้านรวมหุ้นกันแล้วซื้อเพื่อการเพาะพันธุ์ขาย ลูกช้างตัวละประมาณ ๒ ล้านบาท จะมีกลุ่มปางช้าง เชียงใหม่ มาเช่าเพื่อบริการท่องเที่ยว ซึ่งการเลี้ยงช้างนี้ถือว่าเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่ สิ่งที่สำรวจตอนนี้คือจะนำเจ้าหน้าที่จากสถาบันคชบาลที่ลำปางมาอบรมให้ความรู้คนดูแลช้างให้ดียิ่งขึ้น “หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ” ให้ข้อมูล

แปะแหละ บำเพ็ญขุนเขา

ด้าน แปะแหละ บำเพ็ญขุนเขา อายุ ๔๗ ปี ๑ ใน ๑๐ เกษตรกรรุ่นแรกของโครงการหลวง เล่าว่า ตัวเองมีพื้นทำเกษตรที่ประมาณ ๑ ไร่ ๓ งาน เมื่อก่อนปลูกข้าวอย่างเดียวบางปีก็พอกินบางทีก็ไม่พอ ส่วนเงินใช้จ่ายมาจากการรับจ้างทั่วไป จากนั้นหันปลูกผักโดยเริ่มจากปลูกกลางแจ้ง แต่เจอปัญหาหลายอย่างทั้งหนอนและแมลง จนกระทั่งเข้ามาเป็นสมาชิกโครงการหลวงเมื่อปี ๒๕๕๙ มีเจ้าหน้าที่โครงการมาแนะนำให้ปลูกในโรงเรือน ทำให้ดูแลได้ง่ายกว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ ๔ โรงเรือนปลูกทั้งเบบี้ฮ่องเต้ กวางตุ้ง และผักกาดขาว นอกจากนี้ยังมี เสาวรส กาแฟ อาราบิก้า และสตรอเบอรี่ สลับกันไปตามฤดูกาลที่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยกันประมาณ ๔ - ๕ คน ถือเป็นอาชีพหลักของครอบครัว แต่หากมีเวลาว่างก็จะออกไปรับจ้างด้วย

แปลงปลูกกวางตุ้งและเบบี้ฮ่องเต้

"ตอนรู้ว่าโครงการหลวงจะมาตั้งที่นี่ก็อยากมาร่วมเป็นเกษตรกร เพราะก่อนหน้านี้เคยได้ฟัง จากเพื่อน ๆ ดอยอื่นว่า ถ้าทำงานร่วมกับโครงการหลวงแล้วอนาคตจะดีขึ้น จึงสมัครเข้าร่วมมาเป็นเกษตรกรโครงการหลวงตั้งแต่รุ่นแรก ชอบมากที่ได้ทำงานร่วมกันเป็นทีม และทางโครงการหลวงยังให้โอกาสเกษตรกรได้เลือกปลูกไม้ผล และพืชผักที่แต่ละคนสนใจ ปัจจุบันชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น งานไม่หนักเท่าเมื่อก่อน อย่างการปลูกผักแม้รายได้จะไม่แน่นอนแต่ได้ต่อเนื่อง เพราะแต่ละโรงเรือนปลูกไม่พร้อมกัน โรงเรือนที่เก็บ ไปแล้วก็จะปลูกใหม่จึงมีกิจกรรมให้ทำตลอดทั้งปี จากจุดนี้เชื่อว่าชีวิตจะต้องดีขึ้นแน่ เพราะที่ผ่านมาที่นี่ไม่มีไฟฟ้า แต่พอมีโครงการหลวงเข้ามาก็เริ่มมีถนน ชาวบ้านเดินทางกันสะดวกขึ้น พอเห็นถนน ก็เหมือนเห็นอนาคต” แปะแหละกล่าวด้วยสีหน้าและแววตาแห่งความหวัง

อิทธิพล ดอยสะอาด

ขณะที่ อิทธิพล ดอยสะอาด รองนายก อบต. ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด วัย ๔๗ ปี เกษตรกรรุ่นที่ ๒ ปี ๒๕๖๑ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีรายได้ ต้องออกไปทำงานรับจ้างนอกพื้นที่ ถนนหนทางก็ลำบาก ทั้งยังมีครอบครัวที่ต้องดูแล จึงได้แต่ปลูกข้าวไร่ไว้กิน พร้อมกับปลูกข้าวโพด แต่เนื่องจากข้าวโพดต้องใช้เงินลงทุนเยอะ ทั้งยังเป็นการทำลายป่าด้วย ต่อมาโครงการหลวงเข้ามาในพื้นที่และสนับสนุนให้ปลูกผักผลไม้แทน จึงหันมาเริ่มปลูกเสาวรสได้ประมาณ ๑ ปีกว่า แม้การดูแลรักษาจะยากและต้องเจอปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะหน้าฝน แต่ได้เจ้าหน้าที่โครงการหลวงให้คำแนะนำและคอยติดตามผลตลอด จนได้ผลผลิตน่าพอใจ นอกจากเสาวรสแล้ว  ยังมีผลไม้อื่น ๆ เช่น ลิ้นจี่ พลับ และอโวคาโด ปลูกแซมกับเสาวรสด้วย และล่าสุดโครงการหลวงยังแนะนำให้ปลูกผักเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

แปลงปลูกเสาวรส

“หลังจากที่เข้ามาร่วมเป็นเกษตรกรกับโครงการหลวง ปลูกเสาวรสแล้วรายได้ดีขึ้นมาก ชีวิตดีขึ้นเกินครึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน เพราะเสาวรสนั้นระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูกถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลาประมาณ ๖ - ๘ เดือนเท่านั้น แต่จะเก็บผลผลิตได้ไม่พร้อมกัน ทยอยเก็บได้เรื่อย ๆ ตามที่สุก และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะนำไปส่งที่โครงการหลวงศูนย์เชียงใหม่ ถ้าไม่มีโครงการหลวงก็แย่เหมือนกัน เพราะต้องหาตลาดเอง ต้องไปส่งไกล กว่าจะถึงตลาดพืชผลก็ช้ำหมดกินไม่ได้แล้ว ผมภูมิใจมาก ๆ ที่มีโครงการหลวงเข้ามาในหมู่บ้านเรา ผมคิดว่าหมู่บ้านเราจะเจริญขึ้นเยอะ เปรียบเทียบอย่างเมื่อก่อนแย่มาก ถนนหนทางไม่มี ต้องเดิน อย่างชาวบ้านเวลาป่วยก็ต้องหามไปเพราะไม่มีรถ บางคนก็เสียชีวิตกลางทางก็มี แต่ตอนนี้เดินทางสะดวกขึ้น ปลูกผักผลไม้รายได้ก็ดีขึ้น เฉลี่ยรายได้เดือนละ ๑ หมื่นบาท” อิทธิพลกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

ด้วยพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดงานของมูลนิธิโครงการหลวง ช่วยให้ชาวไทยบนพื้นที่สูงสามารถประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ตอกย้ำความสุขและความมั่นใจในการใช้ชีวิตบนผืนแผ่นดินไทย...ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

 

แหล่งที่มา https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/๓๘๑๑๙๙