กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “ด้านการประมง”

Release Date : 29-07-2021 00:00:00
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “ด้านการประมง”

ภาพ กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมประมง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นต่อการพัฒนาด้านการประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านการประมงเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรโดยทั่วไป ย้อนรอยกลับไปเมื่อเริ่มต้นจากโครงการแรกคือปลาหมอเทศ ปลานิล ปลากระโห้ และปลานวลจันทร์เป็นลำดับมา สืบเนื่องจนปัจจุบันปลาพระราชทานได้มีการปรับปรุงสายพันธุ์เป็นมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพ ที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนไทยกว่า ๖๐ ล้านคนมายาวนานกว่า ๕๐ ปีแล้ว

อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในปี ๒๔๙๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศจากปีนัง เข้ามาเลี้ยงในสระน้ำพระที่นั่งอัมพรสถาน เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นปลาน้ำจืด เลี้ยงง่ายและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว และเมื่อวันที่ ๗ พ.ย.๒๔๙๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศแก่กำนันผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ นำไปเลี้ยงเผยแพร่ขยายพันธุ์แก่ราษฎรในหมู่บ้านของตน เพื่อจะได้มีอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น

 

“นับแต่นั้นมาปลาหมอเทศได้กลายเป็นปลาที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จักคุ้นเคย นับเป็นพระราชดำริเริ่มแรกในลักษณะโครงการช่วยเหลือประชาชนของพระองค์”

 ในลำดับถัดมาคือปลานิล โดยเมื่อวันที่ ๒๕ มี.ค.๒๕๐๘ เจ้าฟ้าชายอากิฮิโต ในขณะที่พระองค์ยังดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ทูลเกล้าฯ ถวายลูกปลาตระกูลเดียวกับปลาหมอเทศ ซึ่งเจริญเติบโตเร็ว มีความทนทาน แพร่พันธุ์ง่าย สามารถช่วยประชาชนที่ยากจนได้ จำนวน ๕๐ ตัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดเกล้าฯ เลี้ยงไว้ที่บ่อปลาสวนจิตรลดา ปรากฏว่าปลาชนิดนี้ขยายพันธุ์รวดเร็วมาก ทรงให้ขุดบ่อเพิ่มขึ้นอีก ๖ บ่อ และทรงย้ายปลาด้วยพระองค์เอง

๑ ปีต่อมา เมื่อวันที่ ๑ ก.ย.๒๕๐๘ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ มี.ค.๒๕๐๙ ได้พระราชทานพันธุ์ปลา ๑ หมื่นตัว จากบ่อปลาสวนจิตรลดาแก่กรมประมงเพื่อให้นำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ที่สถานีประมงของจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แล้วแจกจ่ายให้แก่ราษฎรต่อไป

 

หลังจากนั้นปลานิลก็เป็นปลาสำคัญแทนที่ปลาหมอเทศ เกษตรกรจำนวนมากยึดอาชีพการเพาะเลี้ยงปลานิลเพื่อจำหน่าย ปัจจุบันปลานิลเป็นปลาที่คนทั่วไปรู้จักกันดี สมดังพระราชประสงค์ที่ต้องการให้ประชาชนมีอาหารโปรตีนบริโภค โดยทรงมีพระราชดำรัส

“...ให้กรมประมงรักษาพันธุ์แท้ไว้ในสวนจิตรลดา ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าปลาดังกล่าวมิได้กลายพันธุ์ไป ขอให้เร่งรัดเรื่องพันธุกรรม ถ้าหาพ่อแม่พันธุ์ไม่ได้ก็มาเอาที่สวนจิตรลดา...”

อธิบดีกรมประมง เล่าว่า กรมประมงได้น้อมนำพระราชดำรัสดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาการเพาะพันธุ์ การอนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์ปลานิลเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยง โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญด้านการอนุรักษ์และการปรับปรุงพันธุ์ปลา ทรงมีพระราชดำริให้รักษาพันธุ์แท้เอาไว้ เพราะสังเกตเห็นว่าปลานิลตามท้องตลาดกลายพันธุ์ไป มีขนาดเล็กลง  และโตช้า

 

“พระราชดำริเหล่านี้ทางกรมประมงได้น้อมรับมาดำเนินการปรับปรุงพันธุ์โดยใช้ปลาพ่อแม่พันธุ์จากสวนจิตรลดาเป็นหลักในการควบคุมพันธุกรรม ได้ดำเนินการคัดพันธุ์ปลานิลจิตรลดา แบบคัดเลือกภายในครอบครัว ๕ ชั่วอายุ ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำกรมประมงปรับปรุงพันธุ์ได้เมื่อปี ๒๕๓๖ เรียกว่า ปลานิลจิตรลดา ๑”

การพัฒนาสายพันธุ์ปลานิลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา ๒ ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา ๓ และปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา ๔ (เมื่อวันที่ ๓ มี.ค. ๒๕๕๔) เป็นลำดับ ปัจจุบันปลานิลที่ชาวไทยบริโภคส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ปลานิลจิตรลดา ๔ ลักษณะเด่น คือ ส่วนหัวเล็ก ลำตัวกว้าง สันหนา เนื้อเยอะ มีการเจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูง อัตรารอดสูง

ศุภวัฑฒ์ โกมลมาลย์ ผู้อำนวยการกองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าให้ฟังว่า เกร็ดประวัติเกี่ยวกับปลานิล เกี่ยวเนื่องด้วยโครงการพระราชดำริด้านการประมงมีมากมาย นับจากรับพระราชทานปลา ๒๕ คู่แรกจากเจ้าฟ้าขายอากิฮิโตแห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงให้ขุดบ่อเลี้ยงจำนวน ๔ บ่อ ที่พระราชวังสวนจิตรลดา

 

“จาก ๒๕ คู่กลายเป็น ๑ หมื่นตัว พระราชทานแก่กรมประมงภายใน ๑ ปี แม้ปัจจุบันปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา ๔ ซึ่งแพร่ขยายพันธุ์รวดเร็วจะเป็นที่นิยม หากปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา ๑ ก็ยังมีอยู่ โดยทำหน้าที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แท้อยู่ที่เกาะกา จ.นครนายก เพื่อใช้แพร่ขยายพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำที่มีความเป็นกรดสูง”

จากสายพระเนตรที่ยาวไกล ปัจจุบันปลานิลได้กลายเป็นปลาเศรษฐกิจที่อยู่คู่ครัวเรือนไทยข้อมูลจาก FAO ในปี ๒๕๕๖ ผลผลิตปลานิลทั่วโลกมีจำนวน ๕.๔๗ ล้านตัน โดยผลผลิตปลานิลในประเทศไทยในช่วง ๑๐ ปี  ที่ผ่านมา (๒๕๔๙-๒๕๕๘) มีอัตราการขยายตัวลดลงเล็กน้อย ๐.๖%  โดยในช่วงปี ๒๕๔๙-๒๕๕๓ ผลผลิตปลานิลเฉลี่ย ๒ แสนกว่าตัน/ปี และเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี ๒๕๕๔ สร้างความเสียหายให้กับฟาร์มปลานิล ส่งผลให้ผลผลิตลดลงเหลือ ๑๕๕,๕๔๐ ตัน ต่อมาในปี ๒๕๕๕ มีการปรับปรุงฟาร์มปลานิลจนสามารถผลิตปลานิลได้เพิ่มขึ้นปริมาณอยู่ที่ ๒๐๓,๐๓๐ ตัน/ปี การเลี้ยงปลานิลในไทยอยู่กระจัดกระจายทั่วทุกภูมิภาค ผลผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคกลาง

“ล่าสุดปี ๒๕๕๘ ปริมาณผลผลิตปลานิลของไทยมี ๒๐๖,๙๒๐ ตัน เป็นผลผลิตจากการเพาะเลี้ยง ๑๗๙,๖๒๐ ตัน คิดเป็น ๘๗% และผลผลิตจากการจับธรรมชาติ ๒๗,๓๐๐ ตัน หรือ ๑๓%”

 

สำหรับปลาน้ำจืดอีกหนึ่งชนิดที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นปลาพระราชทานนั้น คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “ปลากระโห้” ซึ่งเป็นปลามีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและใกล้สูญพันธุ์ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมประมงนำพ่อแม่พันธุ์ปลากระโห้ที่ทรงเลี้ยงไว้ในบ่อบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งเป็นปลากระโห้สายพันธุ์แม่น้ำเจ้าพระยา มาเพาะพันธุ์จนสามารถเพาะพันธุ์ปลากระโห้แบบผสมเทียมครั้งแรกของโลกได้ในปี ๒๕๒๘

ไม่เพียงแต่การเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดเท่านั้น ที่พระองค์ทรงส่งเสริม แต่พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทุกแห่งที่มีราษฎรของพระองค์อยู่ กระทั่งปี ๒๕๐๘ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ได้ทอดพระเนตร ที่สถานีประมงคลองวาฬ (หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน) ดังปรากฏในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่พระราชทาน แก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่ร่วมเฝ้าถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ เมื่อวันที่ ๔ ธ.ค.๒๕๕๔ ความตอนหนึ่งว่า

 

“ได้ไปที่ประจวบคีรีขันธ์ที่คลองวาฬ ซึ่งมีสถานีประมงที่คลองวาฬเขาเลี้ยงปลาที่เป็นปลาทะเลเรียกว่า ปลานวลจันทร์ เขาจับปลานวลจันทร์ทะเลเล็ก ๆ ที่อยู่ในทะเลเอามาขาย และสำหรับเลี้ยงในบ่อ ซึ่งถ้าเลี้ยงในบ่อน้ำมันจืดลง ปลานวลจันทร์ทะเลนั้นก็เติบโตได้ เป็นอันว่าจะเป็นอาชีพสำหรับชาวบ้านไปซื้อมา เขาไม่ได้ซื้อ เราซื้อให้ไปซื้อ เอามาปล่อยในอ่างเก็บน้ำ และเมื่อปล่อยแล้วมันก็เติบโต เติบโตดี ปีหนึ่งมันเติบโตมาขายได้เงินเป็นหลายแสน แต่ชาวบ้านก็ไม่ค่อยสนใจนัก จึงเลิกปลานวลจันทร์ทะเลมันไม่เติบโต เอ้อมันไม่แพร่พันธุ์ ในบ่อ ในอ่าง มันจะแพร่พันธุ์แต่ในทะเล แต่ก็ยังไงก็จับได้และขายได้ ซึ่งสมมุติว่า ไปซื้อมาแล้วก็ดูแล และถึงเวลา ก็ขายเป็นอาชีพที่ดี”

นอกเหนือจากปลาพระราชทาน อันมีปลานิล ปลากระโห้และปลานวลจันทร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทรงมีพระราชวินิจฉัยที่เป็นประโยชน์ต่อการประมงของไทย ได้แก่ โครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาและสัตว์ทะเลมากมาย เช่น ปลาบึก ทรงมีพระราชดำริให้กรมประมงพยายามเพาะเลี้ยงปลาบึกจากแม่น้ำโขง หากเพาะพันธุ์ได้แล้วก็ให้ปล่อยลงแหล่งน้ำต่อไป และอีกโครงการหนึ่ง “ปลาร้องไห้”

“ครั้งหนึ่งทรงพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบทห่างไกลที่ป่าพรุแฆแฆ ที่ จ.ปัตตานี ชาวบ้านมาเฝ้าแต่ก็แอบร้องไห้อยู่ไกล ๆ ไม่กล้าทูลให้ทราบถึงปัญหาในตอนแรก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงทอดพระเนตรเห็น จึงเรียกมามีพระราชดำรัสถาม”

 

ชาวบ้านพากันทูลว่า ได้เลี้ยงปลากระพงขาวไว้ในกระชัง หากสภาพน้ำเป็นกรดจากป่าพรุ ซึ่งเกิดจากการทับถมของใบไม้เป็นพันปี ได้ทำให้ปลาตายยกกระชัง เป็นเช่นนี้มานานชั่วนาตาปี ต่อมาพระองค์ได้ทรงสร้างโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างเขื่อนที่มีระยะทางในการกักเก็บน้ำเป็นระยะ เพื่อช่วยให้น้ำคลายจากความเป็นกรด ต่อมาได้ตรัสถามจากเจ้าหน้าที่เมื่อทรงทราบว่าปลาในกระชังของชาวบ้านสามารถเจริญเติบโตได้ ทรงตรัสว่าปลาหัวเราะแล้ว

 

 

“พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ คือกองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมประมง ที่ได้มีโอกาสสนองงานในโครงการพระราชดำริโครงการทั่วประเทศ โครงการทั้งหมดส่งผลต่อพี่น้องประชาชน รวมถึงสิ่งที่พระองค์ได้พระราชทาน ได้แก่ ความพอเพียง ความอดทนอดกลั้น และการแก้ปัญหาต่าง ๆ โครงการทั้งหมดจะเดินหน้าต่อ ตามรอยพระยุคลบาทเพื่อปวงชนชาวไทย”

               ศุภวัฒน์ กล่าว

 

แหล่งที่มา https://www.posttoday.com/life/healthy/๔๖๓๙๒๗