กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “ภูหินร่องกล้า” คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคนได้อย่างสมดุลย์

Release Date : 15-07-2021 00:00:00
โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “ภูหินร่องกล้า” คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคนได้อย่างสมดุลย์

ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งภูหินร่องกล้า ร่วมโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เลิกปลูกฝิ่นพืช  ยาเสพติด หันมาปลูกสตอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน ๘๐ และกาแฟอราบิก้า ส่งเสริมอาชีพพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชาวเขาในพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ “คนอยู่ร่วมกับป่าไม้โดยพึ่งพาซึ่งกันและกัน”

 

 

วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก  แต่เดิมถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ชายแดน และเดิมเป็นฐานที่มั่นของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ แต่ภายหลังจากที่รัฐบาลใช้นโยบายการเมืองนำการทหารยุติสถานการณ์การสู้รบแล้ว ทำให้มวลชนชาวไทยภูเขาเผ่าม้งได้เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย รัฐบาลจึงได้ให้การแก้ไขปัญหาความมั่งคงได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่มีราษฎรอยู่อาศัยจำนวนมากรอบแนวเขตอุทยานฯ และเป็นชาวไทยภูเขาส่วนมาก ประกอบกับราษฎรต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อหาสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ในชีวิตประจำวัน ทำให้มีแนวโน้มของการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น

 

 

ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งที่ ๑๔๕๐/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ได้ตั้งโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย ปฏิบัติงานโครงการตามแนวพระราชดำริด้านงานพัฒนาป่าไม้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ยุติการแผ้วถางป่า และทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ยุติปัญหาความขัดแย้งกับราษฎรโดยนำแนวพระราชดำริ “คนอยู่ร่วมกับป่าไม้โดยพึ่งพาซึ่งกันและกัน” มาปฏิบัติ และการดูแลราษฎรให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า ป้องกันไฟป่า และดูแลสัตว์ป่า ขณะที่ชาวเขาเหล่านี้จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการฯ ที่ช่วยเหลือแนะนำการประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

 

โดย นายช่อใหญ่  แซ่หว้า อายุ ๕๙ ปี ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ที่ได้เข้าร่วมโครงการตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษก็ยึดอาชีพปลูกฝิ่นขาย และทำไร่เลื่อนลอย แต่หลังจากได้เข้าร่วมโครงการตามแนวพระราชดำริของในหลวงแล้ว ทุกคนต่างเปลี่ยนความคิดหันหลังให้กับการปลูกฝิ่น ซึ่งเป็นพืชยาเสพติดทำลายประเทศชาติ เห็นถึงโทษและผิดภัยต่าง ๆ ทุกวันนี้ตนเองพร้อมกับชาวไทยภูเขาเผ่าม้งอีกกว่า ๑๗ ครอบครัว จึงน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่หยิบยื่นมาให้กับราษฎรของพระองค์ หันมาปลูกสตอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน ๘๐ แทน โดยมีเจ้าหน้าที่ของโครงการตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้าคอยให้คำแนะนำ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ  ให้แก่ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งได้มีอาชีพทำกินสุจริต ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งทุกคนจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันช่วยดูแลแปลงสตอเบอรี่ ไม่ว่าจะเป็นการรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย จนได้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ทำให้ครอบครัวของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งมีรายได้ทุกครัวเรือน ไม่ต้องพึ่งพาการปลูกพืชยาเสพติด

 

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้า ซึ่งเป็นกาแฟที่นิยมของท้องตลาดอีกด้วย ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ อย่างหาที่สุดมิได้ ที่มอบอาชีพให้กับชาวไทยภูเขาเผ่าม้งบ้านร่องกล้า ซึ่งพระองค์ไม่เคยทอดทิ้งราษฎรเลย พวกตนรู้สึกปลาบปลื้มใจที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินของพ่อ และจะนำแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

 

นายศุภกุล จันทร์ลา หัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ถือว่าเป็นอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ทรงเห็นปัญหาของชาวไทยภูเขาที่ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยโครงการพระราชดำริ เกิดขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนาและรักษาพื้นที่ป่าไม้ให้คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคน สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้น โดยได้เริ่มโครงการฯ ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา พร้อมทั้งส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ในพื้นที่บ้านใหม่ร่องกล้า หมู่ที่ ๑๐ ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง ได้ปรับเปลี่ยนอาชีพจากเดิมมีการปลูกฝิ่นและไร่กะหล่ำ หันมาส่งเสริมปลูกไร่สตอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน ๘๐ และการปลูกกาแฟอราบิก้า เพิ่มอาชีพ สร้างรายได้ โดยมีแปลงสาธิตในโครงการฯ ก่อน จากนั้นชาวบ้านก็จะนำไปปลูกในพื้นที่ของตน ตอนนี้มีชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง มาช่วยงานในโครงการทั้งสิ้น ๑๗ ครอบครัว และได้นำการปลูกสตอเบอรี่พันธุ์ ๘๐ และกาแฟอราบิก้าไปปลูกไม่ต่ำกว่า ๓๐ ไร่แล้ว นอกจากนี้ยังส่งเสริมการปลูกดอกกระดาษ ในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย

 

 
 
 

 

แหล่งที่มา - https://www.phitsanulokhotnews.com/๒๐๑๖/๑๐/๒๐/๙๓๕๖๖