กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

ตามรอยพระบาท ในหลวงรัชกาลที่ ๙ “กาแฟต้นประวัติศาสตร์”

Release Date : 05-07-2021 00:00:00
ตามรอยพระบาท ในหลวงรัชกาลที่ ๙ “กาแฟต้นประวัติศาสตร์”

ในหลวง ร.๙ ประทับบนหลังล่อ ทรงเยี่ยมชุมชนชาวเขาเผ่าอาข่าที่บ้านผาหมี

มหัศจรรย์ใต้พระบารมี ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ผ่านเรื่องราว “กาแฟ” บนดอยสูง

พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ยังคงชัดเจนในดวงใจของพสกนิกรไทยไม่รู้ลืม คือความตั้งพระราชหฤทัยของพระองค์ในการช่วยเหลือราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสัมมาอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว

โดยเฉพาะชาวเขาที่อาศัยอยู่บนดอยสูง มีฐานะยากจนและเลี้ยงชีพด้วยการปลูกฝิ่นขาย พระองค์ได้ทรงเข้าช่วยเหลือผ่าน "โครงการหลวง" โดยวิจัยและส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวเพื่อให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่น และหนึ่งในพืชเมืองหนาวที่กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวเขามาจนปัจจุบันก็คือ  “กาแฟสายพันธุ์อราบิก้า”  ที่เติบโตได้ดีในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศทางภาคเหนือของไทย

                                  ในหลวง ร.๙ ขณะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรต้นกาแฟที่บ้านหนองหล่ม

ต้นกาแฟประวัติศาสตร์แห่งดอยอินทนนท์

เมื่อปี ๒๕๑๗ ชาวบ้านหนองหล่มแห่งดอยอินทนนท์ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มีโอกาสได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ที่หมู่บ้านแห่งนี้มีการปลูกต้นกาแฟ ซึ่งได้รับแจกต้นกาแฟมาจากคณะของ UN ให้ชาวบ้านลองปลูก จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตรต้นกาแฟดังกล่าว แม้จะต้องเสด็จพระราชดำเนินโดยการเดินเท้าเป็นระยะทางไกลถึง ๗ กิโลเมตร

เหตุการณ์ในครั้งนั้น หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี อดีตประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้เล่าไว้ในหนังสือโครงการหลวงมีความตอนหนึ่งว่า "...เมื่อทรงตั้งโครงการหลวงแล้วไม่นาน เวลาเสด็จประพาสต้นบนดอยก็ประกอบด้วยการปีนป่ายเขามาก ในเรื่องนี้ผมถูกพวกในวังที่ต้องเดินตามเสด็จฯ นินทามากมายว่านำเสด็จฯด้วยพระบาทไปเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อให้ทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียง ๒-๓ ต้น ซึ่งก็จริงอยู่ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งเองว่า การที่เสด็จฯ ไปนั้นทำให้ชาวเขาเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจที่จะปลูก บัดนี้กาแฟบนดอยมีมากมาย และก็เริ่มต้นจาก ๒-๓ ต้นนั่นเอง..."

                                    กาแฟอราบิก้าจากพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.๙

นายพะโย ตาโร ชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองหล่มซึ่งมีโอกาสรับเสด็จเมื่อปี ๒๕๑๗ และเป็นผู้พาพระองค์ไปทอดพระเนตรต้นกาแฟได้เล่าว่า ต้นกาแฟดังกล่าวอยู่ในบริเวณบ้านของตน พ่อตาเป็นผู้ปลูกไว้นานแล้ว ในตอนนั้นพระองค์มีรับสั่งถามถึงต้นกาแฟ จึงได้นำทางพระองค์ไปทอดพระเนตร ทรงสอนให้มีการใส่ปุ๋ยและนำหญ้ามาใส่โคนต้น และเมื่อนายพะโยนำเมล็ดกาแฟถวายพระองค์ทรงเห็นว่าเมล็ดกาแฟมีความสมบูรณ์ดีและปลูกในพื้นที่ได้ จึงมีรับสั่งให้ส่งเสริมการปลูกกาแฟโดยใช้เมล็ดที่นายพะโยนำมาถวายกลับคืนให้ชาวบ้านนำไปปลูกต่อ

และต่อจากนั้นโครงการหลวงก็ได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกกาแฟ แนะนำวิธีการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวอย่างถูกต้อง มีหน่วยงานมาศึกษาวิจัยเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม และจากนั้นเองการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ ก็ได้แพร่หลายไปยังพื้นที่สูงอื่น ๆ ในภาคเหนือ

ต้นกาแฟดังกล่าวจึงถือว่าเป็นต้นกาแฟประวัติศาสตร์ที่นายพะโยยังคงดูแลเป็นอย่างดี และเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซึ่งถือเป็นขวัญและกำลังใจต่อการวิจัยและพัฒนาการปลูกกาแฟอราบิก้าของประเทศไทยสืบต่อมา โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมราษฎรที่ดอยอินทนนท์รวมถึง ๑๓ ครั้ง สร้างความปลื้มปิติให้แก่ราษฎรเป็นที่ยิ่ง

                                    พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร.๙ ที่ประดับไว้ในชุมชนบ้านผาหมี

จากไร่ฝิ่นสู่ไร่กาแฟ “บ้านผาหมี”

พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จเยี่ยมประชาชนบนดอยอันห่างไกลโดยประทับบนหลังล่อ เป็นอีกหนึ่งภาพในความทรงจำของปวงชนชาวไทย เบื้องหลังภาพนั้นคือการเสด็จไปทรงเยี่ยมชุมชนชาวเขาเผ่าอาข่าบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ที่บ้านผาหมี ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

บ้านผาหมีเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านในภาคเหนือที่ปัจจุบันมี “กาแฟ” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างงานและรายได้ให้แก่คนในชุมชน จากเดิมที่ชาวบ้านปลูกฝิ่น เคยมีแต่ไร่ฝิ่นเต็มดอย อีกทั้งพื้นที่รอบ ๆ หมู่บ้าน ยังมีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะอยู่ในเส้นทางของการขนลำเลียงยาเสพติดข้ามชายแดน แต่เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินมายังหมู่บ้าน ก็ได้ทรงนำพาอาชีพที่ยั่งยืนมาช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านผาหมีด้วย

                                       ซาเจ๊ะ หม่อโป๊ะกู่ แห่งบ้านผาหมี

พ่อหลวงซาเจ๊ะ หม่อโป๊ะกู่ หรือมนตรี พฤกษาพันธ์ทวี อดีตผู้ใหญ่บ้านผาหมี และยังเป็นชายผู้รับหน้าที่จูงล่อที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงประทับเมื่อครั้งเสด็จเยือนบ้านผาหมีในปี ๒๕๑๓ ได้เล่าไว้ว่า ด้วยความที่เส้นทางทุรกันดารและลาดชัน ชาวบ้านจึงนำล่อมาให้พระองค์ประทับเพื่อไปเยี่ยมหมู่บ้าน ตอนนั้นตนอายุ ๒๘ ปี รับหน้าที่เป็นคนประคองล่อให้พระองค์ รวมถึงทำหน้าที่ล่ามเพราะเป็นชาวอาข่าไม่กี่คนที่สื่อสารภาษาไทยได้

พระองค์ทรงสอบถามความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เมื่อได้ทรงทราบว่าชาวบ้านปลูกฝิ่นจึงทรงขอให้เลิก ชาวบ้านบอกว่าเลิกได้ถ้ามีอย่างอื่นทำ พระองค์จึงทรงแนะนำให้ทำการเกษตรอื่นเพื่อทดแทน ไม่กี่วันถัดมาก็มีรถสิบล้อของโครงการหลวงบรรทุกเมล็ดพันธุ์กว่า ๑๐๐ ชนิด และอุปกรณ์การเกษตรมาแจกจ่ายชาวบ้าน พระองค์ทรงให้แนวคิดว่าทดลองปลูกไปก่อน พืชบางชนิดไม่คุ้นเคยกับดินที่นี่ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าอันไหนเจริญงอกงามก็ให้ทำต่อไป ผลจากวันนั้นทำให้ชาวบ้านพบว่าการปลูกกาแฟมีผลผลิตดีที่สุด รองลงมาคือลิ้นจี่ และแมคคาเดเมีย

                                    งดงามเมื่อมองจากบ้านผาหมี

               จวบจนปัจจุบัน “กาแฟ” ยังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ปลูกอยู่ที่บ้านผาหมี เป็นพืชที่สร้างงานและรายได้ให้คนบ้านผาหมีไม่น้อย โดยหลังจากเหตุการณ์ “๑๓ หมูป่าติดถ้ำ” ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านผาหมี ก็ยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนบ้านผาหมีเป็นจำนวนมากขึ้น ทำให้กาแฟบ้านผาหมีเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นด้วยเช่นกัน

                                  ในหลวง ร.๙ เมื่อเสด็จฯ มาทรงเยี่ยมราษฎรในตำบลห้วยห้อม

กาแฟห้วยห้อม กาแฟดอยสู่แบรนด์ระดับโลก

 “อำเภอแม่ลาน้อย” ได้ชื่อว่าเป็นอำเภอสงบงามท่ามกลางแวดล้อมของขุนเขาใน จ.แม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะใน ต.ห้วยห้อม ที่นอกจากจะเป็นจุดท่องเที่ยวชมทุ่งนาขั้นบันไดอันสวยงามแล้ว ก็ยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย”

เช่นเดียวกับพื้นที่บนดอยสูงอีกหลายแห่ง แต่เดิมชาวบ้านที่นี่เคยปลูกฝิ่นและทำไร่แบบผิดวิธีจนผืนป่าในหมู่บ้านถูกทำลายกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้ทรงนำโครงการหลวงมาพลิกฟื้นผืนแผ่นดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เขียวขจี พร้อมทั้งนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้ชาวบ้านได้รู้จักวิธีการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยอีกหนึ่งสินค้าเกษตรจากพื้นที่ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงก็คือ "กาแฟห้วยห้อม" ที่คอกาแฟรู้จักเป็นอย่างดี

                                          ผลิตภัณฑ์กาแฟห้วยห้อมมีจำหน่าย

สำหรับกาแฟอราบิก้านั้น มีการนำเข้ามาปลูกที่บ้านห้วยห้อมตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ โดยกลุ่มมิชชันนารี โดยต้นกาแฟสามารถปลูกและเติบโตในพื้นที่ห้วยห้อมได้ดี จากนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงเข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟเพิ่มมากขึ้น

และในปีเดียวกัน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมชาวบ้านห้วยห้อมเป็นครั้งแรก และได้พระราชทานทุนทรัพย์จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อจัดตั้งเป็นธนาคารข้าว และต่อจากนั้นพระองค์ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยห้อมอีกหลายครั้ง และทรงให้ส่วนราชการเข้ามาพัฒนาในพื้นที่จนเกิดเป็น “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย” อย่างเต็มรูปแบบในปี ๒๕๒๓

นาขั้นบันไดในโครงการหลวงแม่ลาน้อย

ต่อจากนั้นจึงมีการส่งเสริมปลูกกาแฟมากขึ้นเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น และขยายพื้นที่จากบ้านห้วยห้อมไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงจนมีพื้นที่ปลูกกาแฟเพิ่มมากขึ้น จนปัจจุบันกาแฟห้วยห้อมมีรสชาติดีได้มาตรฐาน จน “สตาร์บัค” แบรนด์กาแฟระดับโลกยังรับซื้อและใช้เมล็ดกาแฟห้วยห้อมเป็นส่วนหนึ่งในการชงกาแฟเสิร์ฟลูกค้าทั่วไทย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทำให้ชาวเขามีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ และทำให้ชาวไทยได้ภาคภูมิใจกับกาแฟหอม ๆ ที่ปลูกเองโดยคนไทย ในแผ่นดินไทยของเราเอง

 

แหล่งที่มา https://mgronline.com/travel/detail/๙๖๒๐๐๐๐๐๙๗๑๘๙