กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์”

Release Date : 01-07-2021 00:00:00
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์”

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙

เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ที่บ้านจะโปรง หมู่ที่ ๕ ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี

มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับช่วยเหลือราษฎรที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ริมห้วยแม่ประจันต์ ในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ให้มีน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูก และการอุปโภค - บริโภคตลอดปี ใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ สำหรับช่วยเหลือการอุปโภค - บริโภค  ในฤดูแล้งของราษฎรและสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับเขตโครงการ ใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำนอง เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยของโครงการชลประทานเพชรบุรีให้ได้ผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ให้ประชาชนได้บริโภคและหารายได้จากการจับสัตว์น้ำ และเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในบริเวณโครงการ 

โดยเป็นเขื่อนดินชนิด Zone Type ปิดกั้นลำห้วยแม่ประจันต์ ความยาวเขื่อนดิน ๒,๑๐๕ เมตร ความกว้างของสันเขื่อน ๘ เมตร ระดับสันเขื่อน +๙๙.๖๐ เมตร (รทก.) ความจุที่ระดับเก็บกัก ๔๒.๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร อาคารประกอบ ๒ แห่งคือ อาคารระบายลงลำน้ำเดิม (River Outlet) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๖๐ เมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด ๑๗.๕๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที และอาคารระบายน้ำล้น (Spill way) เป็นบานระบายโค้ง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด ๑,๓๖๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที

 

ลักษณะภูมิประเทศบริเวณต้นน้ำทางด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เป็นภูเขาปกคลุมด้วยป่าไม้ โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นชายแดนติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสภาพเมียนมา

ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงปกคลุมด้วยป่าทึบ มีความลาดเทจากด้านทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกป่าไม้  

เป็นป่าเบญจพรรณยังคงเป็นสภาพป่าทึบ มีเพียงบางส่วนที่ถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นป่าเปิด พื้นที่บริเวณอ่างฯ และพื้นที่โครงการเป็นลักษณะที่ราบระหว่างภูเขา ริมฝั่งทั้งสองด้านของห้วยแม่ประจันต์ ลักษณะพื้นที่ค่อนข้างราบเหมาะสำหรับการปลูกพืชไร่

การประกอบอาชีพราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเมื่อหมดฤดูกาลของการเพาะปลูก ก็จะไปรับจ้างอย่างอื่น ตลอดจนการหาของป่าขาย 

สภาพปัญหาทั่วไป ในด้านการพัฒนาของอำเภอหนองหญ้าปล้อง คือ แหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตรไม่เพียงพอ การคมนาคมไม่สะดวก รายได้ของสภาตำบลไม่เพียงพอต่อการพัฒนา และราษฎรส่วนใหญ่ยากจน มีรายได้เฉลี่ยประมาณปีละ  ๖๐,๐๐๐ บาทต่อครอบครัว

ความเป็นมา

 

 

วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจังหวัดเพชรบุรี พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานสรุปได้ว่า “...ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ริมห้วยแม่ประจันต์ให้มีน้ำใช้เพาะปลูกและอุปโภค - บริโภคได้ตลอดปี นอกจากนั้นยังช่วยระบายน้ำลงมาเสริมให้กับโครงการชลประทานเพชรบุรีในระยะที่ขาดแคลนน้ำและช่วยเก็บกักไว้ใช้ในฤดูน้ำนอง เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตโครงการเพชรบุรีให้ได้ผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” กองวางโครงการจึงได้จัดทำรายงานเบื้องต้นขึ้น 

แต่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นมีนโยบาย ที่จะชะลองานก่อสร้างขนาดใหญ่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๖ ดังนั้น กรมชลประทาน จึงเลื่อนการก่อสร้างโครงการนี้ออกไป

ต่อมาได้มีชาวบ้านร้องเรียนเนื่องจากขาดแคลนน้ำทำการเกษตรสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงได้มีหนังสือที่ นร. ๐๑๑๑/๑๗๒๐๘ ลว.  ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๐  ถึงกรมชลประทานให้พิจารณาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประกอบกับมีชาวบ้านทำหนังสือร้องเรียนถึงกรมชลประทานเรื่องขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ กรมชลประทานได้พิจารณาความเหมาะสมแล้วสมควรให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ทางต้นน้ำของลำห้วยแม่ประจันต์ โดยดำเนินการเป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง 

กรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ ๒๕๔๖ จะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ ๒๕๕๐ (๕ ปี)ต่อมาช่วงเดือน ตุลาคม และพฤศจิกายน ๒๕๔๖ เกิดเหตุการณ์อุทกภัยอย่างรุนแรง ในเขตจังหวัดเพชรบุรี

๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ได้มีพระราชดำริ ให้กรมชลประทานเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ โดยปรับแผนงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ ๒๕๔๘ (๓ ปี) โดยขอให้กองทัพบกสนับสนุนกำลังพลและเครื่องจักรเครื่องมือเข้าร่วมดำเนินการก่อสร้างด้วย

๓๐ เมษายน ๒๕๔๗ ได้พระราชดำริเพิ่มเติม เร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ (ปีงบประมาณ ๒๕๔๘)

วัตถุประสงค์      

เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับช่วยเหลือราษฎรที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ริมห้วยแม่ประจันต์ ในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ให้มีน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกและการอุปโภค – บริโภคตลอดปี

๑. เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ สำหรับช่วยเหลือการอุปโภค – บริโภค ในฤดูแล้งของราษฎรและสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับเขตโครงการ

๒. เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำนองเพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยของโครงการชลประทานเพชรบุรีให้ได้ผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

๓. เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้ประชาชนได้บริโภคและหารายได้จากการจับสัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในบริเวณโครงการ

พื้นที่ดำเนินการ 

บ้านจะโปรง หมู่ที่ ๕ ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี

หน่วยงานรับผิดชอบ     

สำนักงานก่อสร้างที่  ๑๔  สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (โครงการก่อสร้าง ๑ สำนักชลประทานที่ ๑๔ เดิม)  โทร. ๐-๓๒๔๙ – ๔๐๘๒ / ๐๘๑- ๘๑๕๘๗๔๕ โทรสาร. ๐-๓๒๔๙–๔๐๘๓ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา เพชรบุรี โทร. ๐๓๒-๔๑๖๗๐๑ ต่อ ๑๖

รายละเอียดโครงการ

 

 

ก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบเขื่อนดินประเภท Zone Type สูง ๒๑.๖๐  เมตร ยาว ๒,๑๐๕.๐๐ เมตร สันเขื่อน กว้าง ๘.๐๐ เมตร อาคารระบายน้ำล้น (Spillway) ๑ แห่ง ท่อส่งน้ำลงลำน้ำเดิม (River Outlet) ๑ แห่ง งบประมาณ ๗๓๑ ล้านบาท

ผลการดำเนินงาน

 

 

สำนักงานก่อสร้าง ๑๔ สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างปีงบประมาณ ๒๕๔๖ แล้วเสร็จ ๑๐๐%  ในปีงบประมาณ ๒๕๔๙ และได้ส่งมอบโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ ให้กับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรีแล้ว โดยโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง โดยเป็นเขื่อนดินชนิด Zone Type ปิดกั้นลำห้วยแม่ประจันต์ ความยาวเขื่อนดิน ๒,๑๐๕ เมตร ความกว้างของสันเขื่อน ๘ เมตร ระดับสันเขื่อน +๙๙.๖๐ เมตร (รทก.) ความจุที่ระดับเก็บกัก ๔๒.๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร อาคารประกอบ ๒ แห่งคือ อาคารระบายลงลำน้ำเดิม (River Outlet) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๖๐ เมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด ๑๗.๕๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที และอาคารระบายน้ำล้น (Spill way) เป็นบานระบายโค้ง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด ๑,๓๖๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที  ณ วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๐ มีปริมาณน้ำกักเก็บ ๒๗.๕ ล้านลูกบาศก์เมตร

แนวทางดำเนินงานระยะต่อไป

เนื่องจากลำห้วยแม่ประจันต์ มีลักษณะตื้นเขิน ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี กรมชลประทานได้วางแผนก่อสร้างฝายทดน้ำ และขุดลอกลำห้วยบริเวณหน้าฝาย ในเขตตำบลท่าตะคร้อ จำนวน ๓ แห่ง ในช่วงปี ๒๕๕๐-๒๕๕๑ คือฝายทดน้ำบ้านท่าตะคร้อ (อยู่ระหว่างดำเนินการในปี ๒๕๕๐ ผลงาน ๒๐%) ฝายทดน้ำบ้านหนองรี และฝายทดน้ำบ้านทุ่งเคล็ด (ปี ๒๕๕๑)

การสำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างระบบส่งน้ำ และระบบกระจายน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ พร้อมกับวางแผนการปลูกพืชให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำ 

ประโยชน์ที่ได้รับ

 

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีปริมาตรเก็บกักที่ระดับเก็บกัก ๔๒.๒ ล้าน ลบ.ม. สามารถบรรเทาอุทกภัยช่วงฤดูฝนในบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรีและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง สนับสนุนโครงการชลประทานเพชรบุรี และสามารถช่วยเหลือด้านการเพาะปลูกในพื้นที่โครงการ จำนวน ๓๕,๐๐๐ ไร่ และ  ในฤดูแล้ง จำนวน ๑๐,๐๐๐ ไร่

แหล่งที่มา http://km.rdpb.go.th