กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

พระราชกรณียกิจ “สมเด็จย่า” สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

Release Date : 31-05-2021 00:00:00
พระราชกรณียกิจ “สมเด็จย่า” สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยและประเทศชาติของเรา นั้นใหญ่หลวงเป็นอเนกปริยาย เพราะตั้งแต่ทรงเสกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และได้เป็นพระราชมารดาของพระมหากษัตริย์ไทยถึงสองพระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จวบจนเจริญพระชนมายุเป็น “สมเด็จย่า” และ “สมเด็จทวด” ของพระราชนัดดาและพระราชปนัดดาหลายพระองค์แล้วก็ตาม แต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียัง ทรงมีพระอุตสาหวิริยะสูงในการทรงงานเพื่อประโยชน์สุข ของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า

สมเด็จย่ากับการบริหารราชการแผ่นดิน

ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๔ อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนีทรงรับพระราชภาระเป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ในช่วงเวลาแห่งการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศของพระองค์ตลอดเกือบ ๗ เดือน ในการนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างพระเนตรพระกรรณ ได้อย่างเรียบร้อยบริบูรณ์ โดยในระหว่างนั้นได้ทรงเสด็จฯ เข้าร่วมประชุมกับคณะองคมนตรีเป็นประจำเสมอมิได้ขาด กับยังได้ทรงลงพระนามาภิไธยในกฎหมาย และประกาศที่สำคัญหลายฉบับ อาทิพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์อิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ.๒๕๐๓ พระราชบัญญัติเรื่องการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๐๓ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๐๓ และประกาศเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจ แห่งชาติระหว่างเวลา พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๐๙ และประกาศเรื่องแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นต้น

นอกจากนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังได้ทรงเสด็จฯ ออกรับเอกอัครราชทูตของประเทศต่าง ๆ ที่ขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระราชสาส์นตราตั้งในการมาประจำที่ประเทศไทยตลอด นับได้ว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นผู้สำเร็จราชแผ่นดินที่เป็นสตรีพระองค์ที่ ๓ นับเนื่องจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จย่ากับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข

 

 

นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ อันเป็นปีที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่เพิ่งสร้างเสร็จได้ราวปีเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้อัญเชิญสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ พระตำหนักแห่งใหม่นี้ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมครั้งนี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปตามป่าเขา และแวะเยี่ยมเยียนชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในละแวกนั้น ทำให้ได้ทรงพบเห็นราษฎรหลังจากนั้นเป็นต้นมา

ทุกครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จเยี่ยมประชาชนในท้องที่ห่างไกลก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงที่ตามเสด็จช่วยรักษาพยาบาลชาวบ้านที่ป่วยไข้ ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรการปฏิบัติงานด้วยพระองค์เอง ทุกครั้งอย่างไรก็ตามในแต่ละแห่งที่เสด็จเยี่ยมทรงใช้เวลาราว ๓-๔ ชั่วโมง ทำให้แพทย์ที่ตามเสด็จฯ เพียง ๑-๒ ท่าน ไม่สามารถทำการรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนนับร้อยได้ทัน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้ทรงมีพระราชดำริที่จัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาในพระองค์ขึ้น โดยให้ทดลองจัดตั้งขึ้นก่อนในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

ดังนั้นในปีถัดมา (พุทธศักราช ๒๕๑๒) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงมีพระราชปรารภ ถึงแนวพระราชดำริในการจัดตั้งหน่วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เข้ามาเป็นอาสาสมัครของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพระองค์นี้ และได้จัดให้มีการประชุมอาสาสมัครเหล่านี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งผลการประชุมในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิด “หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล”  หรือที่พระราชทานชื่อย่อ “พอ.สว.”  ขึ้น ที่นี่หน่วยแพทย์ พอ.สว. จะประกอบไปด้วยแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่เป็นอาสาสมัครทำงานด้วยความเสียสละโดยมิได้รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทนพิเศษอื่นใด และจะเคลื่อนที่ออกไปให้บริการตรวจรักษาชาวบ้านตามท้องถิ่นต่าง ๆ ที่กันดารห่างไกล ความเจริญเฉพาะในวันเสาร์และวันอาทิตย์ซึ่งการออกปฏิบัติดังกล่าวเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๒

สมเด็จย่ากับการศึกษาของเยาวชนในชนบทไทย

 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสนพระทัยในเรื่องการศึกษาของเยาวชนในเขตชนบทเป็นอย่างมาก ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เยาวชนในชนบท มีความรู้ความคิดและสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดอันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาชนบท แต่จากการ เสด็จฯ ออกเยี่ยมเยียนราษฎรในปี พ.ศ.๒๕๐๗ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กลับทรงพบกับสภาพความขาดแคลนโรงเรียนสำหรับเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ด้วยในเวลานั้นกระทรวงศึกษาธิการยังขยายเขตการศึกษาไปไม่ถึงพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ห่างไกล ประกอบกับการสื่อสารโทรคมนาคมก็มิได้เจริญเฉกเช่นในปัจจุบัน ทั้งในเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการแทรกซึมของเหล่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างกว้างขวาง ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเพิ่มความห่วงใยประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตแทรกซึม ซึ่งบางแห่งมิได้พูดภาษาไทยกันด้วยซ้ำ จะเกิดความไม่แน่ชัดว่า ตนคือคนไทยด้วยหรือไม่ ดังนั้นเมื่อความทราบใต้ฝ่าพระบาทว่า กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ได้กำหนดโครงการที่จะจัดสร้างโรงเรียนชาวเขาขึ้นในเขตพื้นที่ตามแนวชายแดน ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้แก่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อนำไปจัดสร้างโรงเรียนจำนวน ๒๙ แห่ง ภายหลังผู้มีจิตศรัทธาได้ทูลเกล้า ถวายเงินสมทบในการจัดสร้างได้อีกกว่า ๑๘๕ แห่ง ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังได้ทรงรับเอาโครงการของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไว้ในพระราชูปถัมภ์ ในปัจจุบันมีโรงเรียนเกือบ ๔๐๐ โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วได้ถูกโอนเข้าไปสังกัดในส่วนงานการประถมศึกษา ส่วนที่ยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจตระเวนชายแดนมีเพียง ๑๗๐ โรงเรียน และเมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้น ก็มิได้ทรงทอดทิ้ง พระองค์ได้ทรงฝากให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงช่วยดูแลแทนดังพระราชพระแสที่ว่า “ย่าแก่แล้ว ไปไหนไม่ค่อยไหว ถ้าสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ก็ให้เยี่ยมแทนย่าด้วย” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อเยาวชนในท้องถิ่นชนบทห่างไกลเป็นล้นพ้น

สมเด็จย่ากับงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่เอื้อคุณประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างมหาศาล อีกประการหนึ่งคืองานเกี่ยวกับการฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนสิ่งแวดล้อมให้ฟื้นคืนกลับมามีสภาพที่ดีดังเดิม ซึ่งหนึ่งในหลาย ๆ งานในด้านนี้ของพระองค์ ได้แก่โครงการพัฒนาดอยตุง ดังพระราชดำริที่ว่า “ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง” พระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทรา  บรมราชชนนี ที่ทรงต้องการทอดพระเนตรเห็นความเขียวชอุ่มและความสมบูรณ์ของสภาพป่าบนดอยตุงพระราชดำรินี้รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ พลเอกเปรมติณ สูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น จึงได้ก่อตั้งโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๓๑

ปัจจุบันนี้ สภาพป่าบนดอยตุงสมบูรณ์เกินกว่าที่จะเชื่อว่า เมื่อหลายปีก่อนเคยเป็นภูเขาที่แห้งแล้งไม่มีต้นไม้อยู่เลยด้วย พระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการปลูกป่าและพัฒนาความรู้ให้แก่ชาวบ้านบนดอยตุงนี้เอง ทำให้สภาพป่าบนดอยตุงมีความสมบูรณ์ขึ้นมาได้ความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุงในครั้งนี้ ได้จุดประกายให้เกิดการตื่นตัวในการสร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้บังเกิดขึ้นแก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่มีสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจนหมดสภาพความเป็นป่า ได้เกิดชาวบ้านหันมาให้ความร่วมมือกับราชการเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าอย่างเป็นระบบ ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ตามเดิม

 

 แหล่งที่มา https://www.mfu.ac.th/about-mfu/princess-srinagarindra/princess02.html