กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ ๙ “ด้านวิศวกรรมสำรวจและแผนที่”

Release Date : 13-05-2021 00:00:00
พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ ๙ “ด้านวิศวกรรมสำรวจและแผนที่”

                              “นายช่าง ถึงไม่มีถนน ก็ต้องเดินไป ๒ กิโลเมตร ๓ กิโลเมตรก็จะไป”

                                   พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

                                        ตรัสกับนายปราโมทย์ ไม้กลัด นายช่างที่ถวายงาน

ภาพในหลวง รัชกาลที่ ๙ ประทับยืนอยู่บนพื้นที่ห่างไกล ท่ามกลางพสกนิกรและข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ คือภาพที่ชาวไทยคุ้นตากันเป็นอย่างดีจากสื่อต่าง ๆ บางครั้งเป็นภาพที่พระองค์มีเหงื่อโทรมพระวรกาย บางครั้งเป็นภาพที่ถูกบันทึกไว้ในยามค่ำคืน หรือแม้กระทั่งในยามที่สายฝนโปรยปราย ภาพเหล่านี้สะท้อนความมุ่งมั่นของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ที่ทรงงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาพื้นที่ทุรกันดารให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดี และพึ่งพาตนเองได้

 

พระปรีชาสามารถที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงนำมาใช้ในการประกอบพระราชกรณีกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ห่างไกลนั้นมีหลากหลายด้าน แต่พระอัจฉริยภาพด้านหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของงานด้านนี้ คือ พระอัจฉริยภาพด้านวิศวกรรมสำรวจซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดการการควบคุม การใช้และการผลิตแผนที่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค เพราะพระราชกรณียกิจสำคัญนอกเหนือจากการเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของพสกนิกรแล้ว ยังมีพระราชกรณียกิจด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเหล่านั้นด้วย

ในการทรงงานพระองค์มีอุปกรณ์คู่พระวรกายคือแผนที่ ดังภาพที่คนไทยทุกคนเห็นจนชินตา  แผนที่แผ่นนั้น ผ่านการตัดและต่อขึ้นใหม่ด้วยกาวให้มีขนาดใหญ่ อีกทั้งยังออกแบบวิธีการพับที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อให้สะดวกต่อการพกพา เมื่อเสด็จลงไปในพื้นที่จะทรงสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่และราษฎรในท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของแผนที่ไปพร้อม ๆ กัน หากมีข้อมูลใหม่ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาก็จะทรงบันทึกไว้อย่างละเอียด หรือหากมีความผิดพลาดก็จะทรงตรวจสอบเพื่อแก้ไขไปในคราวเดียวกัน จากการทรงงานเช่นนี้ทำให้บ่อยครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จะทรงพระราชทานข้อมูลที่ถูกต้องแก่กรมแผนที่ทหารเพื่อนำไปแก้ไขให้ถูกต้อง

 

นอกจากนี้ยังทรงใช้แผนที่ค้นหาว่าในแต่ละพื้นที่มีแหล่งน้ำ หรือเส้นทางน้ำอยู่ที่ใดบ้าง เพื่อเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเขื่อน สร้างฝาย อ่างเก็บน้ำ หรือแก้มลิง หากทอดพระเนตรพื้นที่ที่เหมาะสม ก็จะทรงวาดเส้นทางและระบายสีในแผนที่ตรงจุดที่น่าจะทำเขื่อนได้ และทรงมีเข็มทิศซึ่งอยู่ด้านหลังนาฬิกาข้อพระกร และเครื่องวัดระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล (Barometer) ไว้สำหรับตรวจสอบระดับความสูง  ของพื้นที่ซึ่งเป็นตัวกำหนดการไหลของน้ำติดไว้ในรถที่เสด็จอยู่เสมอด้วย เพราะพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการจัดการน้ำ เป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ด้วยประจักษ์ว่าน้ำนั้นมีความสำคัญต่อ   การดำเนินชีวิต และปัญหาขาดแคลนน้ำนั้นเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และไม่เพียงแต่พระราชดำริแนวทางในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น ในการเลือกพื้นที่ทำตามแนวพระราชดำริแต่ละประเภท ก็จะทรงคำนึงถึงความเหมาะสมตามภูมิประเทศและผลกระทบที่ชาวบ้านจะได้รับจากการก่อสร้าง จึงทรงหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎรเป็นหลักอีกด้วย

นอกจากจะทรงให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำเพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคแล้ว ยังทรงมีความเป็นห่วงพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เช่น การทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาในบริเวณภาคเหนือซึ่งนิยมปลูกฝิ่น ทำให้พื้นที่ป่าถูกทำลายขยายวงกว้างต่อไปเรื่อย ๆ จึงทรงพระราชทานพืชปลูกทดแทนฝิ่น จัดหาน้ำและพื้นที่การทำการเกษตรให้แก่ชาวเขา การแก้ปัญหาในครั้งนี้เป็นที่เล่าขานกันต่อมา ถึงพระปรีชาสามารถที่ในการแก้ปัญหาทั้งยาเสพติดและปัญหาป่าไม้ไปในคราวเดียว โดยที่ไม่มีผู้ใดที่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อ นับเป็นปรีชาสามารถที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้การยกย่อง

 

พระอัจฉริยภาพทั้งหมดนี้ของรัชกาลที่ ๙ มิได้เกิดเพราะพระองค์คือกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการแต่เกิดจากการที่ทรงศึกษา สอบถามจากผู้รู้ และทรงอ่านหนังสือจำนวนมาก ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเคยพระราชทานสัมภาษณ์ไว้ในรายการ “พูดจาประสาช่าง” เกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพด้านวิศวกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า

  “...ตอนแรก ๆ ก็รับสั่งเล่าให้ฟังว่าวิธีการศึกษาของท่านคือ ศึกษาจากนายช่าง หรือเจ้าหน้าที่ชลประทานที่เขาตามเสด็จหรือที่ได้ทรงพบคนที่ทรงรู้จักว่าถ้าอย่างนี้เป็นอย่างไร การทำเขื่อนทำอย่างไร ทางเทคนิคต่าง ๆ ท่านก็เรียนจากเขา แต่ว่าอาศัยที่ได้ทอดพระเนตรเห็นงานการต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศมามาก บางครั้งท่านทรงเกิดความคิดขึ้นมาก็บอกให้เขาฟัง ถ้าเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรงเขาเห็นว่าถูกต้องเหมาะสมเห็นด้วยก็ทำไป แต่ถ้าเขามีข้อคัดค้านหรือที่ท่านทราบมายังไม่ถูกต้อง เขาก็จะกราบบังคมทูลขึ้นมา โดยที่ท่านถือว่าไม่ต้องมาเกรงใจว่าเป็นพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์  ต้องทำตาม จะผิดจะถูกก็ต้องทำตาม ท่านก็ไม่ถืออย่างนั้น ถ้านายช่างเขามีเรื่องทางเทคนิคที่ท่านสั่งมายังไม่ถูกต้อง ที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร ท่านก็รับฟังเสมอและค่อย ๆ ฟังมาเรื่อยจนค่อนข้างจะมีความชำนาญ...”

การเสด็จพระราชดำเนินเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรและสำรวจพื้นที่เพื่อการจัดการทรัพยากรโดยไม่กลัวความยากลำบากของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปี ทำให้ทุกพื้นที่ที่พระองค์เสด็จไปสมบูรณ์ขึ้น ทั้งยังเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สร้างการเรียนรู้ให้แก่ราษฎรได้นำไปใช้ประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตได้อย่างยั่งยืน กระจายอยู่ทุกแห่งหนที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้เสด็จไป สร้างประโยชน์สุขให้ราษฎรอย่างหาที่สุดมิได้

 

แหล่งที่มา http://blog.jobthai.com/inspiration/กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ-วิศวกรสำรวจ