กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ “โครงการชั่งหัวมัน”

Release Date : 19-04-2021 00:00:00
พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ “โครงการชั่งหัวมัน”

โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ตั้งอยู่ใน อ.ท่ายาง จ. เพชรบุรี เกิดขึ้นจากความเอาพระทัยใส่ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙  ที่ทรงมีต่อเกษตรกรในการที่จะพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้ประสบความสำเร็จและสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

 

เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๑ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  ทรงซื้อที่ดินจากราษฎร พื้นที่ประมาณ ๑๒๐ ไร่ ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ บ้านหนองคอไก่ หมู่ที่ ๕ ตำบล เขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก ๑๓๐ ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด ๒๕๐ ไร่ และทรงมีดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษกิจในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง มาปลูกไว้ที่นี่ โดยเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฏาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นมา

สภาพพื้นที่โดยทั่ว ๆ ไป แห้งแล้ง ดินปนทรายและหินลูกรัง เจ้าของที่ดินเดิมปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้และตัดไม้ขายไปแล้ว มีแต่ต้นยูคาลิปที่งอกมาจากต้นตอเดิมเต็มพื้นที่ มีแปลงมะนาวเดิมอยู่ประมาณ ๓๕ ไร่ และแปลงปลูกอ้อย ๓๐ ไร่ จึงได้พัฒนาพื้นที่ ให้เป็นแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งพืชผักสวนครัว นาข้าว สวนไม้ผล ยางพารา มะพร้าว สับปะรด พืชไร่ ฯลฯ กองงานส่วนพระองค์ ขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามาช่วยกันปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ เช่น การทำถนนเข้าโครงการ ขุดสระเก็บน้ำ ทำรั้วรอบโครงการ ก่อสร้างอาคาร และสาธารณูปโภค ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ทำระบบชลประทาน ทำให้พื้นที่โครงการ และหมู่บ้านใกล้เคียงมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เกิดเหตุการณ์ความคิดเห็นต่างกันทางการเมืองทำให้มีกลุ่มบุคคลออกมาแสดงความคิดเห็น สร้างความไม่สงบขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเอาหัวมันเทศวางบนตาชั่งตั้งไว้บนโต้ะทรงงาน เพื่อเป็นคติเตือนใจ “ชั่งหัวมัน” หัวมันเทศเมื่องวางอยู่นานเข้าก็จะแตกใบ มีต้นงอกออกมา ก็ทรงให้เอาต้นมันนั้นไปเพาะเลี้ยงไว้ในเรือนเพาะชำ แล้วนำมันเทศหัวใหม่มาวางไว้บนตาชั่งแทน ทำเช่นนี้เรื่อยไป ในเรือนเพาะชำก็มีแต่ต้นมันเทศ ทรงมีดำริว่า หัวมันเทศวางไว้บนตาชั่งไม่มีดินและน้ำยังงอกได้ที่ดินแปลงนี้ มีดินและพอมีน้ำอยู่บ้างก็น่าจะปลูกมันเทศได้ จึงทรงพระราชทานต้นมันเทศจากเรือนเพาะชำมาปลูกไว้ที่นี่ และพระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ”

 

วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งจากศาลาเก้าเหลี่ยม ริมอ่างเก็บน้ำหนองเสือ เสด็จมาเปิดป้ายโครงการชั่งหัวมันด้วยพระองค์เอง โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม และคุณทองแดง ร่วมตามเสด็จมาในรถพระที่นั่ง เมื่อเสด็จมาถึง ทรงเปิดป้ายโครงการชั่งหัวมัน โดยวางถุงใส่หัวมันเทศลงบนตาชั่ง เปิดแพรคลุมป้ายชื่อโครงการ มีข้าราชการ ข้าราชบริพาร พสกนิกรที่ปฏิบัติงานในโครงการ และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง มาร่วมกันเป็นสักขีพยาน หลังจากเปิดป้ายโครงการแล้ว ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับข้าราชการ ที่มาปฏิบัติงาน และราชทานวโรกาสให้ผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกคนได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท     อย่างใกล้ชิด นายชาย พานิชพรพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี (พ.ศ. ๒๕๕๒) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมาลา (หมวก) ที่ทำจากป่านศรนารายณ์ ประดับด้วยตราประจำจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากสมาชิกในโครงการสหกรณ์หุบกะพง หลังจากนั้น ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรรอบพื้นที่โครงการ ก่อนเสด็จกลับวังไกลกังวล 

               ทรงให้โครงการนี้เป็นแบบอย่างของความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความสามัคคีร่วมมือกันของหลายฝ่าย ดังพระราชดำรัส ที่ทรงพระราชทานให้แก่คณะผู้เข้าเฝ้า ถวายสิทธิบัตรฝนหลวง ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ ความว่า...

“...คนที่ไปดูก็เห็นได้ว่า เริ่มต้นด้วยไม่มีอะไรเลย แต่ว่าต่อมาภายในวันเดียว ทุกคนในท้องที่นั้นก็เข้าใจว่า ต้องช่วยกัน และยิ่งในสมัยนี้ในระยะนี้ เราต้องร่วมมือกันทำเพราะว่าถ้าไม่มีการร่วมมือกันก็ไม่ก้าวหน้า ไม่มีความก้าวหน้า ฉะนั้นการที่ท่านได้ทำแล้วมีความก้าวหน้านี้ เป็นสิ่งที่ดีมาก หลักการก็อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเสียสละ เพื่อให้กิจการในท้องที่ก้าวหน้าไปด้วยดี ก้าวหน้าได้อย่างไร ก็ด้วยการช่วยเหลือกัน แต่ก่อนนั้นเคยเห็น  ว่ากิจการที่ทำ มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำ แล้วก็ทำให้ก้าวหน้า แต่อันนี้มันไม่ใช่กลุ่มหนึ่งมันทั้งหมด ร่วมกันทำและก็มีความก้าวหน้าแน่นอน อันนี้เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวัง มีความหวังว่า ประเทศชาติจะก้าวหน้า ประเทศชาติจะมีความสำเร็จ...”

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจ พืชพันธุ์ดีของอำเภอท่ายาง และของจังหวัดเพชรบุรี

๒. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกร

๓. เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแปลงหรือมาช่วยงานพระองค์ 

เป้าหมาย

โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ มีเป้าหมายในการสนองพระราชประสงค์และพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้เป็นศูนย์รวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจของอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งการจัดการฟาร์มโคนม และโรงเลี้ยงไก่ไข่ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมีผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ และสเตอริไรส์ ตลอดจนมีหน่วยทดลองพลังงานทดแทน  เช่น ทุ่งกันหันลม พลังงานแสงอาทิตย์ และไบโอดีเซล ทั้งนี้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงชาวบ้านที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงได้เข้ามาร่วมกันบำรุงดูแลรักษา และแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นตามวิถีการดำรงชีวิตเกษตรกรรมตามหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง

“...โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ได้ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลขั้นตอนการผลิตอย่างใกล้ชิดโดยนักวิชาการเกษตรที่มีความชำนาญเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์      ที่มีคุณภาพผ่านการเก็บเกี่ยวรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การคัดเลือก คัดแยก และบรรจุ เพื่อส่งถึงผู้บริโภค ให้มั่นใจได้ว่า ผู้บริโภคจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ...”

แนวทางการบริหารงาน

               ๑. บริหารทรัพยากรแบบบูรณาการ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่า ได้แก่ การพัฒนาอ่างเก็บน้ำหนองเสือเพื่อส่งน้ำไปใช้ในโครงการ โดยเก็บกักน้ำไว้ ๒ สระ ไว้รองรับและกระจายนำเข้าสู่ระบบการเพาะปลูก ฟาร์มปศุสัตว์ และโรงงานแปรรูปนม รวมทั้งการขุดเอาเจาะน้ำบาดาลเพื่อนำมาใช้ในการอุปโภคด้วย

               ๒. ใช้ช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของโครงการฯ ผ่านร้านโกลเด้นเพลส (Golden Place) ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท สุวรรณชาด จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อควบคุมผลผลิตให้มีคุณภาพและจำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยตรง

               ๓. เป็นแหล่งเรียนรู้ ในการนำพลังงานสะอาดจากธรรมชาติมาใช้เป็นพลังงานทดแทนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น ทุ่งกังหันลม (Wind Farm) และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cells) สามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้เข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งนอกจากเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่โครงการฯ แล้วยังช่วยให้ราษฎรในหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง มีกระแสไฟฟ้าใช้ได้อย่างพอเพียง และทั่วถึง

               ๔. เป็นแหล่งสาธิตทางการเกษตรของภาคเอกชนและวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อให้โครงการนี้มีประโยชน์แก่เกษตรกรและประชาชนเพิ่มมากขึ้น เช่น บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดทำแปลงสาธิตการปลูกยางพาราที่ทันสมัย และนาข้าวทดลองแบบใช้นำบังคับให้ได้ผลผลิตสูง และลดต้นทุนการผลิต มหาวิทยาลัยแม่โจ้นำเสนอแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานสำหรับการดำเนินชีวิตได้อย่างพอเพียงในพื้นที่จำกัด เพียง ๑ ไร่ และเงินลงทุน ๑๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งการเพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อประโยชน์ในการผลิตปุ๋ยบำรุงดินและเป็นรายได้เสริม ของเกษตรกรที่สนใจ เป็นต้น

               ในปี ๒๕๕๖ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมอบหมายให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจการของโครงการฯ โดยจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมพัฒนาและปฏิบัติงานร่วมกับกองงานส่วนพระองค์ เช่น การเลี้ยงโคนม การเลี้ยงไก่ไข่ การผลิตน้ำนมพาสเจอไรซ์และสเตอริไรส์ หน่วยพลังงานทดแทน ไบโอดีเซล รวมทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

               ปัจจุบัน โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรอีกแห่งหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาดูงาน และเปิดให้เข้าชมได้จากจุดเริ่มต้นที่มาจากพื้นที่ที่แห้งแล้งและเสื่อมโทรม กลับกลายเป็นพื้นที่สีเขียว ที่สามารถเพาะปลูกพืชสวนครัวและ พันธุ์พืชต่าง ๆ รวมทั้งการปศุสัตว์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์นม และหน่วยพลังงานทดแทน ซึ่งได้มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา เกษตรกร และประชาชนทั่วไป รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ภิกษุ สามเณรตลอดจนชาวต่างชาติ เข้าเยี่ยมชมกิจกรรมของโครงการฯ เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

 

กิจกรรมโครงการ

• การใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นพลังงานทดแทน

• การผลิตพืชปลอดภัยจากสารพิษ

• การสาธิตการปลูกสบู่ดำ

• การปลูกข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ

• แปลงศึกษาและส่งเสริมการผลิตชมพู่เพชรสายรุ้ง

• แปลงศึกษาและส่งเสริมการผลิตหน่อไม้ฝรั่ง

• การทำปุ๋ยหมัก

• การปลูกไม้ผล พืชไร่ ประกอบด้วย แก้วมังกร กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก มะละกอ มะนาว ฟักทอง กล้วย อ้อย มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวห้าว ฯลฯ

• การปลูกพืชผัก ประกอบด้วย มันเทศ กระเพรา โหระพา พริกพันธุ์ซูปเปอร์ฮอต มะเขือเทศราชินี กระเจี๊ยบเขียว วอเตอร์เครส มะระขี้นก ผักหวานบ้าน ฯลฯ

ผลิตภัณฑ์

               โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ได้ดำเนินการผลิต ผลิตภัณฑ์เกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษภายใต้การควบคุมกำกับดูแลขั้นตอนการผลิตอย่างใกล้ชิด โดยนักวิชาการเกษตรที่มีความชำนาญ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ผ่านการเก็บเกี่ยวรวบรวมผลิตภัณฑ์ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การคัดเลือก คัดแยก และบรรจุ เพื่อส่งถึงผู้บริโภคให้มั่นใจได้ว่า ผู้บริโภคจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยผลิตภัณฑ์จากโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จะมีวางจำหน่ายเฉพาะที่ร้านโกลเด้น เพลซ เท่านั้น

 

 

 

แหล่งที่มา  http://www.tsdf.nida.ac.th/th/royally-initiated-projects/10756-โครงการชั่งหัวมัน-ตามพระราชดำริ-พศ-2552/