กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ “ด้านการบำรุงพระศาสนา”

Release Date : 05-04-2021 00:00:00

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระปรีชาญาณ หยั่งเห็นความสำคัญของบ้านเมือง ๒ ประการ คือ วัดกับวัง ทั้ง ๒ สถาบันไม่อาจแยกจากกันได้ ต้องอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จึงจะเกิดประโยชน์ วัดในสมัยก่อนมีความสำคัญ ต่อสังคมไทยอย่างมาก เพราะวัดเป็นที่ประชุมของกลุ่มคน คือ เป็นศาลาประชาคม เป็นที่เล่าเรียน เป็นโรงเรียน เป็นวิทยาลัยของอนุชนไทย วัดมีคุณค่าในทางวิชาการ ตลอดจนในทางศิลปะ ฉะนั้นวัดจึงเป็นที่ผลิตข้าราชการ ผู้มีความรู้ ทั้งยังเป็นแหล่งรวมของศิลปะด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม วัดจึงเป็นสถานที่ที่ทุกคน มีสิทธิ์มาชื่นชม มามีส่วนร่วมได้ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม เป็นศูนย์กลางของความคิดความอ่านของคนทั้งปวง พระภิกษุมีฐานะเป็นผู้นำของชาวบ้าน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเล็งเห็นความสำคัญข้อนี้ จึงได้ทรงมุมานะ พระราชหฤทัยในอันที่จะยอยกพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ขึ้น ได้รับเป็นพระราชธุระ เกี่ยวแก่การพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านปริยัติ คือ การบำรุงพระคัมภีร์ คำสอนให้บริสุทธิ์ และการปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ จึงปรากฏว่าได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ในปีพุทธศักราช ๒๓๓๑ และทรงออกกฎสำหรับพระสงฆ์ เพื่อความเรียบร้อยของสังฆมณฑล ให้เป็นหลักแก่บ้านเมืองสืบไป การสังคายนาพระไตรปิฎก  มีรายละเอียดในพระราชพงศาวดารว่า

“พระบาทสมเด็จพระบรมพิตรพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชรำพึง ถึงพระไตรปิฎกธรรม อันเป็นมูลรากแห่งพระปริยัติศาสนา ทรงพระราชศรัทธาพระราชทาน พระราชทรัพย์เป็นอันมาก ให้เป็นค่าจ้างจารจารึก พระไตรปิฎกลงลานแต่บรรดามีฉบับในที่ใด ๆ ที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญ ก็ให้ชำระแปลงออกเป็นอักษรขอม สร้างขึ้นไว้ในตู้ ณ หอพระมณเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ ให้เล่าเรียนทุกๆ พระอารามหลวงตามความปรารถนา

 “เจ้าหมื่นไวยวรนาถ กราบทูลว่า พระไตรปิฎกซึ่งทรงพระราชศรัทธาสร้างขึ้นไว้ ทุกวันนี้อักขระบทพยัญชนะตกว่าวิปลาสอยู่แต่ฉบับเดิม หาผู้ที่มีจะทำนุบำรุงตกแต้ม ดัดแปลงให้ถูกต้องบริบูรณ์ขึ้นมิได้ ครั้นได้ทรงสดับจึงทรงพระราชปรารภว่า พระบาลี และอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้ เมื่อผิดและเพี้ยนวิปลาสอยู่เป็นอันมากฉะนี้ จะเป็นเค้ามูลพระศาสนากระไรได้ ฯลฯ สัตว์โลกทั้งปวงจะหาที่พึ่งมิได้ ในอนาคตภายหน้า ควรจะทำนุบำรุง พระพุทธศาสนาไว้ให้ถาวรวัฒนาการ เป็นประโยชน์แก่เทพยดามนุษย์ทั้งปวง จึงจะเป็นพระบรมโพธิญาณบารมี”

ทรงพระราชดำริฉะนี้แล้ว จึงดำรัสให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นประธานในพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะ ฐานานุกรมเปรียญ ๑๐๐ รูป มารับพระราชทานฉัน ครั้นเสด็จสังฆหัตถกิจแล้ว พระบาทสมเด็จ  พระบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงถวายนมัสการ ดำรัสเผดียงตามพระราชาคณะทั้งปวงว่า พระไตรปิฎกธรรม  ทุกวันนี้ ยังถูกต้องบริบูรณ์อยู่ หรือพิรุธผิดเพี้ยนประการใด จึงสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวงพร้อมกันถวายพระพรว่า พระบาลี และอรรถกถาฎีกา พระไตรปิฎกทุกวันนี้ พิรุธมาช้านานแล้ว หากษัตริย์พระองค์ใด จะทำนุบำรุงให้เป็นศาสนูปถัมภกมิได้ ฯลฯ พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระ       อนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ จึงดำรัสว่า

“ครั้งนี้ขออาราธนา พระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง จงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักร ให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์ขึ้นให้จงได้ ฝ่ายทั้งอาณาจักร ที่เป็นศาสนูปถัมภกนั้น เป็นพนักงานโยม ๆ จะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัย สุดแต่จะให้พระปริยัติบริบูรณ์ เป็นมูลที่จะตั้งพระพุทธศาสนาจงได้”

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ บริจาคพระราชทรัพย์เกณฑ์ให้พระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ทำสำรับคาวหวาน เลี้ยงพระผู้ทำสังคายนา ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ กอง สมเด็จพระสังฆราช เป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฏกกอง ๑, พระวันรัต เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎกกอง ๑, พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศษกอง ๑, พระธรรมไตรโลก เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎกกอง ๑, พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จพระราชดำเนินออกไป ณ วัดมหาธาตุที่สังคายนาทุกวัน วันละ ๒ เวลา ทรงประเคนสำรับในเวลาเช้า เวลาเย็นถวายน้ำอัฐบาน เป็นเหตุให้การสังคายนาได้รวดเร็ว ด้วยทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ตรวจตรา สิ้นเวลา ๕ เดือน   ก็เสร็จการสังคายนา

จะเห็นได้ว่าทรงให้ความสำคัญแก่การสังคายนาพระไตรปิฎกมาก และได้ทรงทำสังคายนาก่อนการชำระประมวลกฎหมาย ในสายตาคนปัจจุบัน ก็อาจจะว่าไม่ทันสมัย ควรจะชำระกฎหมายสำหรับบ้านเมืองเสียก่อน แต่ถ้าได้ศึกษาสภาพการณ์ในเวลานั้น และได้ศึกษากฎหมายที่ใช้ในบ้านเมืองแล้ว จะเห็นว่ากฎหมายในสมัยนั้น ใช้หลักทางพระพุทธศาสนา เข้าตัดสินทั้งสิ้น จึงได้ทรงให้ทำสังคายนาพระไตรปิฎก ไว้เป็นหลักเสียก่อนแล้ว จึงชำระประมวลกฎหมายภายหลัง

 

 

การพระศาสนา อีกส่วนหนึ่งคือการออกกฎพระสงฆ์ ซึ่งได้ทรงตราขึ้นเป็นคราว ๆ เมื่อมีเหตุการณ์  อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าทรงสอดส่อง ความประพฤติของพระภิกษุอยู่เนื่อง ๆ ด้วยทรงทราบดีว่า พระเป็นผู้นำของชาวบ้าน เป็นผู้ได้รับนับถือมากกว่าผู้อื่น ถ้าพระภิกษุ มีศีลจารวัตรวิบัติแล้ว ก็จะพาบ้านเมืองย่อยยับไปได้ จึงได้ทรงออกกฎตักเตือนพระภิกษุ ที่กระทำผิดอยู่เนื่อง ๆ

นอกเหนือจากพระราชกิจเกี่ยวกับการศาสนาข้างต้นนี้แล้ว ยังได้ทรงสร้างวัดอารามให้บริบูรณ์ ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมาที่ชำรุดเสียหายตามหัวเมืองต่าง ๆ แล้วให้นำเข้ามารักษาไว้ในพระนคร การด้านศาสนาก็รุ่งเรือง เป็นปึกแผ่นสืบมา ดังพระราชปณิธานที่ทรงตั้งไว้

แหล่งที่มา http://changsipmu.com/1rtfm01_p04.html