กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนบ้านบางกลอยและบ้านโป่งลึก อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี)

Release Date : 11-03-2021 00:00:00
โครงการพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง     (โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนบ้านบางกลอยและบ้านโป่งลึก อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี)

แนวพระราชดำริ :

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานความช่วยเหลือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านบางกลอย หมู่ที่ ๑ และ บ้านโป่งลึก หมู่ที่ ๒ ตําบลห้วยแม่เพรียง อําเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยจะพระราชทานอาชีพเสริมในด้านศิลปาชีพ และการปรับปรุง พัฒนาในการประกอบอาชีพทางการเกษตร อันได้แก่ การหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร การพัฒนาคุณภาพดิน การหาพันธุ์ที่เหมาะสม ตลอดจนการซ่อมแซมสะพานที่ใช้ในการสัญจรข้ามแม่น้ำเพชรบุรี ไปมาหาสู่กันระหว่าง ๒ หมู่บ้าน และเนื่องจากหมู่บ้านทั้งสองเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีกฎระเบียบ ข้อบังคับของอุทยานแห่งชาติถือปฏิบัติอยู่ เพื่อให้บรรลุตามพระราชดําริ จะต้องไม่ขัดกฎระเบียบและข้อบังคับ  

ความเป็นมาของโครงการ :

สืบเนื่องจาก ชนกลุ่มน้อยชาวกระหร่าง ได้ย้ายมาจากเทือกเขาตะนาวศรีและจังหวัดมะริดของประเทศพม่า ย้ายมาตั้งบ้านเรือนกันอยู่อย่างกระจัดกระจายตามพื้นที่ที่มีแม่น้ำไหลผ่าน บริเวณห้วยขุนกระเวน ห้วยซับชุมเห็ด ห้วยตะเกลพาดู ห้วยตะเกลโพ และห้วยพลู ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำเพชรบุรี หลังจากนั้นได้มีการเคลื่อนย้ายลงมาเรื่อย ๆ เพราะพื้นที่ทํากินเสื่อมโทรม และเกิดโรคฝีดาระบาด จึงได้มีการอพยพลงมาอยู่ที่บริเวณดินโป่ง ซึ่งก็คือหมู่บ้านโป่งลึกในปัจจุบัน ต่อมามีคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่บ้านโป่งลึกอย่างต่อเนื่อง เพราะความไม่สงบตามแนวชายแดน การอพยพตามญาติพี่น้องและ ด้วยเหตุที่ชาว กะหร่างยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมการเดินทางไปมาหาสู่เพื่อร่วมประเพณีและการเยี่ยมเยียนในเหล่าเครือญาติ ทําให้ได้มีการสื่อสาร และชักชวนกันมาอยู่ที่แห่งนี้ และยังคงสานสายใยความสัมพันธ์ในกลุ่มเครือญาติ เฉกเช่นเดิมต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้มีการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และ พ.ศ. ๒๕๓๖ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ. ๑๐ ได้มีการริเริ่มให้มีการเรียนการสอนหนังสือ โดยให้เด็กในหมู่บ้านได้มีการเรียนการศึกษา มีการร่วมกันจัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราว มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และกองกํากับการตํารวจตระเวนชายแดนที่ ๑๔๔ มาช่วยดําเนินงานและเป็นครูสอนหนังสือ

ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมป่าไม้ (เดิม) หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ ๒๙ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และจังหวัดเพชรบุรี ได้ร่วมกันจัดทำโครงการศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการ บุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำลําธารอย่างถาวรของชาวไทยภูเขาในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (โครงการย่อย) ตามโครงการดูแลรักษาป่าบริเวณป่าละอูบนและเขาพะเนินทุ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดําริ (โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่) โดยการอพยพราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่ากะหร่างที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามแนวชายแดนไทย-พม่า ลงมารวมกัน ตรงข้ามกับหมู่บ้านโป่งลึก รวมทั้งหมด ๕๗ ครอบครัว ซึ่งได้มีการดําเนินการก่อสร้างบ้านพักรองรับราษฎรที่อพยพลงมา จํานวน ๕๗ หลัง   จัดที่ดินทํากินและปลูกบ้านให้ โดยหมู่บ้านบางกลอย หมู่ที่ ๑ และบ้านโป่งลึก หมู่ที่ ๒ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ภายใต้เขตการปกครองของตําบลห้วยแม่เพรียง อําเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้อาณาเขตการรับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ. ๑๐ (ห้วยแม่สะเลียง) อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนบ้านบางกลอย – บ้านโป่งลึก อันเนื่องมาจากพระราชดําริ

 

ที่ตั้งของโครงการ :

                หมู่ที่ ๑ (บ้านบางกลอย) และหมู่ที่ ๒ (บ้านโป่งลึก) ตําบลห้วยแม่เพรียง อําเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

วัตถุประสงค์ :

๑. เพื่อรักษาสภาพป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนอนุรักษ์สัตว์ป่า และรักษาสภาพแวดล้อม

๒. เพื่อลดปัญหาการล่าสัตว์ป่า และการใช้สารเคมีในพื้นที่ป่าต้นน้ำลําธารของแม่น้ำเพชรบุรี

๓. เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ป้องกัน การเกิดสภาวะแห้งแล้งในพื้นที่ตลอดจนการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรม อุปโภคบริโภคในท้องที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

๔. เพื่อให้ป่าแห่งนี้เป็นแหล่งกําเนิดต้นน้ำลําธารสายสําคัญต่างๆ เพื่อให้ราษฎรโดยรอบป่าผืนนี้ได้ใช้ในการอุปโภคและเพื่อการเกษตรกรรม

๕. สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่ของราษฎรชาวไทยภูเขา (กะเหรี่ยง กะหร่าง ) บริเวณต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี

๖. ทําให้ราษฎรชาวไทยภูเขา (กะเหรี่ยง กะหร่าง) มีที่ทํากินเป็นหลักแหล่งและเป็นของตนเองรวมทั้งสามารถประกอบอาชีพและอยู่ร่วมกับทรัพยากรป่าไม้อย่างสมดุล

๗. เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ของ ชาวไทยภูเขา  (กะเหรี่ยง กะหร่าง) บริเวณป่าต้นน้ำลําธารเพชรบุรี

 

ประโยชน์ของโครงการ :

๑. ช่วยให้ราษฎรในพื้นที่หมู่ ๑ และหมู่ ๒ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จำนวน ๑๓๖ ครัวเรือน ๙๗๑ คน มีแหล่งน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค

๒. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร มีพื้นที่รับประโยชน์จำนวน ๑,๐๐๐ ไร่ ส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่รับประโยชน์ มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

๓. สามารถบรรเทาปัญหาการบุกรุกทำลายป่าและช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ จำนวน ๔๐๐ ไร่

๔. ช่วยลดปัญหาการล่าสัตว์ป่า และการใช้สารเคมีในพื้นที่ต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี

แหล่งที่มา http://fady๐๐๔.blogspot.com/๒๐๑๖/๑๐/blog-post_๖๐.html