กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์”

Release Date : 04-03-2021 00:00:00
โครงการพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์”

ประวัติโครงการ

  เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งแม่น้ำป่าสักมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๑๓ ในจำนวน ๒๕ ลุ่มน้ำของประเทศไทย เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ ๑๔,๕๒๐ ตารางกิโลเมตร มีลักษณะของลุ่มน้ำแคบเรียวยาว แหล่งต้นน้ำอยู่จังหวัดเลย ลำน้ำมีความยาว ๕๑๓ กิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี และมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยประมาณ ๒,๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่๙ ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒  ให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสักอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูก และบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำในลุ่มน้ำป่าสัก เป็นผลสืบเนื่องมายังเขตกรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑลด้วย ซึ่งนำความเดือนร้อนมาให้ราษฎรเกือบทุกปี ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่๙ ได้พระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานว่า หากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปัจจุบัน ก็สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนได้ จะต้องก่อสร้างเขื่อน ๒ แห่ง ที่แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำนครนายก ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้าง ๕ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๔๒ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานนาม เขื่อนนี้ว่า "เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" อันหมายถึง "เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้เริ่มเก็บกักน้ำครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่๙ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธี

 การก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น ๒๓,๓๓๖ ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างด้านชลประทาน ๗,๘๓๑ ล้านบาท งบประมาณแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ๑๕,๕๐๕ ล้านบาท โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และงานอื่น ๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบเสร็จสมบูรณ์และเพื่อเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติในวาระที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒

พระราชดำริ

 วันที่๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่๙ ทรงมีพระราชดำริ กับนายปราโมทย์ ไม้กลัด และคณะเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กปร. ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์จังหวัดเชียงใหม่ ความว่า ควรศึกษาพิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำปิดกั้นแม่น้ำป่าสักที่บริเวณเขาถ้ำพระ บ้านท่าสะบก ตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยเร่งด่วน

 

ขั้นตอนการดำเนินงาน

๑. เป็นแหล่งน้ำถาวรเพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชนต่าง ๆ ในเขตจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี

๒. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับพื้นที่ชลประทานที่จะเกิดใหม่ในเขตจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี จำนวน  ๑๗๔,๕๐๐ ไร่

๓. เป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับพื้นที่โครงการชลประทานเดิมในทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ประมาณ ๒,๒๐๐,๐๐๐ ไร่

๔. ช่วยบรรเทาอุทกภัยให้แก่พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำป่าสักในเขตจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี และยังมีผลช่วยบรรเทาอุทกภัยให้แก่พื้นที่ตอนล่างลงไปด้วย

๕. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี

๖. อ่างเก็บน้ำจะกลายเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่

๗. เป็นแหล่งน้ำเสริมเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร

๘. เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

๙. เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรีดีขึ้น

ลักษณะโครงการ

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีลักษณะเป็นเขื่อนดิน แกนดินเหนียว (Zoned Type) ระดับสันเขื่อน +๔๖.๖๐ ม.รทก. (เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) ความยาวประมาณ ๔,๘๖๐ เมตร ความสูงเขื่อน ๓๑.๕ ม. ความกว้างสันเขื่อน ๑๐ เมตร ระดับกักเก็บน้ำสูงสุดที่ +๔๓.๐๐ ม.รทก. ปริมาณกักเก็บน้ำ ๙๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร

อาคารประกอบและระบบชลประทาน

(๑) อาคารระบายน้ำล้น (Spill way) ชนิดของอาคาร Gated Spillway ความกว้างของอาคาร ระดับสันอาคารระบายน้ำ +๓๔.๕๐ ม.รทก. ความสามารถในการระบายน้ำ ๓,๙๐๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที

(๒) อาคารท่อส่งน้ำลงลำน้ำเดิม (River Outlet) ชนิดของอาคาร Drop Inlet ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางท่อส่งน้ำ ๓.๐ เมตร ความสามารถในการระบายน้ำ ๘๐.๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที

(๓) อาคารท่อระบายน้ำฉุกเฉิน ชนิดของอาคาร Drop Inlet ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางท่อส่งน้ำ ๓.๐ เมตร ความสามารถในการระบายน้ำ ๖๕.๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที

 

 

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บางโครงการมีกิจกรรมเดียว ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีเดียว บางโครงการมีหลายกิจกรรมและดำเนินการต่อเนื่องในปีต่อไป ดังนั้นหน่วยนับของโครงการจึงเป็น โครงการ / กิจกรรม

แหล่งที่มา https://sites.google.com/site/๑๙๔๙๘๖๕๔๙๘๑๖f/prapheth-khorngkar