กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการฟาร์มทดสอบสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” ตำบลท่าไข่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

Release Date : 10-02-2021 00:00:00
โครงการฟาร์มทดสอบสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” ตำบลท่าไข่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

ความเป็นมา

               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินซึ่ง นางกอบกุล ศาสตรี                    ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน ๔ แปลง เนื้อที่รวม ๒๕ ไร่ ๑ งาน ๖๕ ตารางวา ตั้งอยู่ที่ บ้านท่าไข่ ตำบลท่าไข่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินการรับโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

พระราชดำริ

               เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๓ สำนักราชเลขาธิการ ได้แจ้งให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินแปลงดังกล่าวให้มูลนิธิชัยพัฒนา จัดทำเป็นแปลงสาธิตเกษตรผสมผสานโดยมีการทำนาร่วมกับการปลูกไม้ผลและเลี้ยงปลา เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป สามารถนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อปรับใช้ในที่ดินของตนเองได้ ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติการเปลี่ยนชื่อโครงการจากโครงการจัดทำแปลงสาธิตเกษตรผสมผสานไปเป็นโครงการฟาร์มทดสอบและสาธิต มีนเกษตร “สองน้ำ” บ้านท่าไข่ ตำบลท่าไข่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

การดำเนินงานตามพระราชดำริ

               ๑. เพื่อทำการทดสอบและขยายผลเทคโนโลยีภาคสนาม โดยนำทั้งภูมิปัญญาพื้นบ้านและเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาประยุกต์เข้าด้วยกัน

               ๒. เพื่อทำการสาธิตให้เกษตรกรนำไปเป็นตัวอย่างในการปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเอง รวมทั้ง ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือ การแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาซึ่งกันและกัน

               ๓. เพื่อให้ได้ผลผลิตสัตว์น้ำที่ปลอดภัยพอเพียงต่อการพึ่งพาตนเอง โดยกระบวนการเพาะเลี้ยงต่าง ๆ สามารถบำบัดตัวเองให้กลับคืนสู่สภาพสมดุลได้อย่างปลอดภัย

การดำเนินงาน

               โครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” บ้านท่าไข่ เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตพื้นที่สองน้ำ ได้แก่ น้ำกร่อยและน้ำจืด โดยไม่ใช้สารเคมี และไม่เติมจุลินทรีย์ลงในน้ำ เพื่อให้สัมพันธ์กับวงจรชีวิตสัตว์น้ำและวงจรห่วงโซ่อาหาร ผ่านศาสตร์แขนงต่างๆ เช่น นิเวศวิทยา ปฐพีวิทยา อุตุนิยมวิทยา เป็นต้น              มีการดำเนินงานในรูปแบบของการเกษตรแบบทางเลือก และเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการใช้พื้นที่ต่าง ๆ           ที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

               ๑. กิจกรรมด้านสัตว์น้ำ เป็นกิจกรรมหลักของโครงการ ดำเนินการพัฒนาสภาพนิเวศน์ภายในฟาร์มให้สามารถเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนโดยไม่ใช้สารเคมี เน้นการเลี้ยงกุ้งขาววานาไมแบบปิด นอกจากนี้ ได้ทดลองกิจกรรมการเลี้ยงกบในกระชัง การเลี้ยงปลานิลแดง และการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เช่น ปลาการ์ตูน    ปลาแรด เพื่อสร้างรายได้และทางเลือกเสริมให้กับผู้ที่สนใจ อย่างไรก็ดีโครงการฯ ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และอากาศแปรปรวน มีผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยเฉพาะกุ้ง ทำให้ต้องรีบจับกุ้งเพื่อนำไปจำหน่าย          ก่อนกำหนด เพื่อป้องกันการขาดทุน ประกอบกับค่าวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

               ๒. กิจกรรมด้านปศุสัตว์และพืช ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การเลี้ยงสุกรตามแนวทางเกษตรธรรมชาติ การเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกพืชผักประเภทต่างๆ ได้แก่ พืชผักสวนครัว การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน           (ไฮโดรโพนิกส์) การทดลองการทำนา การผลิตน้ำหมักชีวภาพ และการทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น โดยเป็นการพัฒนาที่ดิน และใช้ประโยชน์จากที่ดิน รวมทั้งเป็นกิจกรรมเสริมให้กับผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และนำไปใช้ประโยชน์

               ๓. กิจกรรมการบริการ ให้บริการและอนุเคราะห์ในด้านสถานที่ อุปกรณ์ต่าง ๆ แก่หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และชุมชนใกล้เคียง

               ๔. กิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การแปรรูปผลผลิตจากกุ้ง ดำเนินการแปรรูปผลผลิตกุ้งขาวเล็ก ซึ่งใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณครั้งละไม่เกิน ๒ เดือน ให้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำพริกกุ้งเสียบทรงเครื่อง จัดส่งจำหน่ายให้กับภัทรพัฒน์ จนเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่มีคนสนใจ และสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ให้กับโครงการ

               ๕. โครงการฯ มีรายได้ จากการจำหน่ายกุ้งขาว และกุ้งกุลาดำ รวมทั้งการแปรรูปเป็นน้ำพริกกุ้งเสียบทรงเครื่อง รวมทั้งสิ้น ๔๕๐,๐๐๐ บาท

 

 

“สองน้ำ” มาจากพื้นที่สองน้ำ คือน้ำจืดและน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย ด้วยบริเวณดังกล่าวตลอดช่วงฤดูฝน

จนถึงกลางฤดูหนาวจะเป็นน้ำจืด และจากช่วงกลางฤดูหนาวจนถึงฤดูแล้งจะเปลี่ยนเป็นน้ำเค็มหรือกร่อย ภายในโครงการมีเขตที่เป็นน้ำจืดและเขตที่เป็นน้ำเค็มเพื่อการเพาะเลี้ยงกุ้ง ปลา และเพาะปลูกพืชที่อยู่ได้สองน้ำ ซึ่งเกื้อกูลกันอย่างเหมาะสมแบบครบวงจรต่อเนื่อง ตามวงจรชีวิตกับวงจรอาหารธรรมชาติ เป็นการอาศัยกลไกทางธรรมชาติ โดยไม่ใช้ยา ปุ๋ยเคมี และจุลินทรีย์ ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย มีคุณภาพสูงและมีมูลค่า ให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพได้อย่างเพียงพอพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งมีระบบการบำบัดหมุนเวียนน้ำ ก่อให้เกิดผลผลิตพลอยได้ตามห่วงโซ่อาหารและไม่มีของเสียเหลือทิ้งอีกด้วย

 

 

แหล่งที่มา http://km.rdpb.go.th/Project/View/๖๕๔๐