กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการหลวงพระราชดำริ “ปางตอง ๒”

Release Date : 19-01-2021 00:00:00
โครงการหลวงพระราชดำริ “ปางตอง ๒”

ประวัติความเป็นมาของโครงการ

              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า บริเวณอ่างเก็บน้ำปางตองใหม่และฝายปางอุ๋ง ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าเป็นเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว สภาพป่าไม้ไม่สามารถที่จะฟื้นตัวขึ้นเองตามธรรมชาติได้ทันกับความต้องการในด้านอุปโภคบริโภค การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และขาดสมดุลทางระบบนิเวศ ถ้าปล่อยให้สภาพการณ์เป็นไปเช่นนี้ก็จะมีผลเสียหาย และกระทบกระเทือนสู่บริเวณลุ่มน้ำแม่สะงา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและนิเวศวิทยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับ พลเอกปิ่น ธรรมศรี หัวหน้าคณะทำงานส่วนพระองค์ในขณะนั้น เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ “...ให้มีการปรับปรุงสภาพป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำปางตองใหม่และฝายปางอุ๋ง ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม...”

             โครงการพระราชดำริปางตอง ๒ (ปางอุ๋ง) ได้เข้าดำเนินการกิจกรรมเกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าและปรับปรุงระบบนิเวศ มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การปลูกป่าในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการปลูกป่าทั่วไป ปลูกไม้ใช้สอย ปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ปลูกหวายตามแนวพระราชดำริ ปลูกป่าปรับปรุงระบบนิเวศ การปลูกป่าเปียก รวมเนื้อที่ ๒๐,๗๑๐ ไร่ การจัดทำแนวกันไฟ การจัดทำฝายต้นน้ำชะลอความชุ่มชื้น รวมถึงการส่งเสริมการจัดทำ

โครงการธนาคารอาหารชุมชนเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร  

            การดำเนินงานที่ผ่านมาส่งผลทำให้ป่าบริเวณนี้ มีความสมบูรณ์ ระบบนิเวศกลับมาสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากการฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่แล้ว โครงการ ยังได้พัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของโครงการ อยู่บนพื้นที่สูงมีทัศนียภาพป่าสนสามใบ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ประกอบกันอย่างลงตัว สภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ในช่วงเช้ามืดของฤดูหนาวอ่างเก็บน้ำจะเต็มไปด้วยหมอกที่สวยงาม ทำให้พื้นที่โครงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนท้องถิ่นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

พระราชดำรัสเพิ่มเติม

             เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ สวนป่าตามโครงการพระราชดำริปางตอง ๒(ปางอุ๋ง) ทรงมีพระราชดำรัสเพิ่มเติม ว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจมากที่ได้กลับมาเยี่ยมที่นี่อีกครั้ง เยี่ยมประชาชนทุกหมู่เหล่า และได้เห็นความตั้งใจของทุกๆ ท่าน ที่ช่วยกันรักษาป่า อันที่จริงคำว่าป่านี้ ที่สำคัญก็คือหมายถึงต้นน้ำ แหล่งที่ผลิตน้ำทำให้เกิดน้ำขึ้น เวลาฝนตกหน้าฝนต้นไม้นี้คอยเป็นที่เก็บน้ำไว้ใต้ดิน เก็บไว้ตามลำต้น ตามกิ่งก้าน ตามใบ และเสร็จแล้วจะกลับเลี้ยงผืนแผ่นดินนี้ด้วยน้ำที่เขาเก็บเอาไว้ ทุกคนก็รู้ดีว่า ในชีวิตของเราสิ่งที่สำคัญที่สุดคือน้ำ เราขาดข้าวขาดอาหารได้หลายหลายวัน แต่เราอยู่ได้ไม่กี่วัน ถ้าไม่มีน้ำ แม้แต่เวลาที่เราอยู่ในท้องแม่เราก็ต้องมีน้ำคอยหล่อเลี้ยงไม่ให้กระทบกระทั่งจนกระทั่งตาย ก่อนที่จะคลอดออกจากท้องแม่ น้ำนี่เป็นสิ่งที่เลี้ยงดูชีวิตของสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลาย เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรสำคัญที่สุดเท่าน้ำแล้ว ข้าพเจ้าอยากจะบอกว่าทรัพยากรที่ค่าที่สุดในโลก ไม่ใช่ทอง ไม่ใช่เพชร แต่เป็นน้ำ และบังเอิญทรัพยากรน้ำนี้ ไม่ใช่เป็นของเหลือเฟือในโลกของเรานี้ โลกของเรานี้น้ำที่มีค่าที่สุด เป็นของที่มีน้อย มีจำกัด และไม่เพิ่มขึ้น แม้แต่กาลเวลาจะผ่านไปอย่างไร น้ำในโลกก็ไม่เพิ่มขึ้น มีจำนวนเท่าไหร่ตั้งแต่โลกสร้างมาที่คนอยู่ได้ น้ำก็จะอยู่เท่านั้น ไม่มีวันเพิ่มขึ้นเพราะฉะนั้นถ้าเราทุกคนรู้ถึงความหายาก ความที่มีค่าของน้ำ ก็ต้องรู้ด้วยว่าอะไรที่รักษาน้ำไว้ในดินให้กับเรา ก็คือป่า คือต้นไม้ และต้นไม้นี้เอง ทำให้เกิดฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนหลายแห่งพูดกับข้าพเจ้าว่า เดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่าอะไรทำให้ฝนคลาดไป ไม่ตรงต่อฤดูกาล อันที่จริงพวกเรานั้นเองที่ทำให้ฝนแล้ง ฝนคลาดเคลื่อนจากฤดูกาล การที่เราทำลายป่าเป็นจำนวนมาก เรานี่แหละลดความชุ่มชื้นในอากาศ ในบรรยากาศเรานี่แหละทำให้ฝนคลาดเคลื่อน ทำให้ฝนไม่ตก ไม่ใช่ใครอื่นที่เราที่จะไปโทษได้ เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนรู้ว่า การรักษาป่า การดูแลให้โลกนี้แผ่นดินนี้ มีต้นไม้นี่แหละ คือเราสร้างเราเก็บน้ำ ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในชีวิตของเราไว้ ข้าพเจ้าขออวยพรให้ทุก ๆ ท่านมีความสุขสวัสดี มีโชคดี มีชีวิตที่รุ่งเรืองแจ่มใส อยู่ในขอบเขตของคนดี  สวัสดี”

 

 

ที่ตั้งเนื้อที่อาณาเขต

           โครงการพระราชดำริปางตอง ๒ (ปางอุ๋ง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสำนักงานตั้งอยู่ หมู่ที่ ๕ ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๑,๒๐๐  เมตร ห่างจากแนวชายแดนประมาณ ๓ กิโลเมตร อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งขวาตอนล่าง ปัจจุบันได้รับประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ถ้ำปลา - น้ำตกผาเสื่อ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ มีเนื้อที่ประมาณ ๕๗,๒๑๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่บ้านห้วยมะเขือส้ม บ้านรวมไทย หมู่ที่ ๕ ตำบลหมอกจำแป่ และบ้านไม้สะเป่ บ้านห้วยผึ้ง หมู่ที่ ๙ ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ  ติดต่อกับ บ้านนาป่าแปก และพื้นที่โครงการพระราชดำริปางตอง ๑ (ห้วยมะเขือส้ม)
  • ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ ถนนสายแม่ฮ่องสอน – บ้านรักไทย และพื้นที่โครงการพระราชดำริ ปางตอง ๓ (แม่สะงา-หมอกจำแป่)
  • ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ ประเทศสหภาพพม่า
  • ทิศใต้  ติดต่อกับ บ้านดอยแสง และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งขวาตอนล่าง

การคมนาคม เริ่มต้นเดินทางจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ สามารถใช้เส้นทางในการเดินทางได้ ๔ เส้นทาง คือ

            ๑. ทางหลวงหมายเลข ๑๐๗ จากเชียงใหม่-อำเภอแม่ริม-บ้านแม่มาลัย แล้วแยกซ้าย ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๕ไปอำเภอปาย-อำเภอปางมะผ้า-ถ้ำปลา แยกขวาไปบ้านหมอกจำแป่-บ้านห้วยขาน-พระตำหนักปางตอง-บ้านนาป่าแปก-แยกซ้ายไปบ้านห้วยมะเขือส้ม-บ้านรวมไทย-ถึงโครงการฯ ระยะทางประมาณ ๒๕๓ กิโลเมตร 

           ๒. ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘สายเชียงใหม่-อำเภอหางดง-อำเภอสันป่าตอง-อำเภอดอยหล่อ-อำเภอจอมทอง แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๙ ไปดอยอินทนนท์ เลยด่านตรวจอุทยานแห่งชาติต่านที่ ๒ แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๑๙๒ ไปอำเภอแม่แจ่ม แล้วเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๒๖๓ ไปบ้านแม่นาจร-บ้านนาฮ่อง-บ้านปางอุ๋ง-อำเภอขุนยวม แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ – อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เดินทางต่อไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๕ (สายไปอำเภอปาย) ประมาณ ๘ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามเส้นทางบ้านกุงไม้สัก  บ้านแม่สะงา และบ้านหมอกจำแป่-บ้านห้วยขาน-พระตำหนักปางตอง-บ้านนาป่าแปก-แยกซ้ายไปบ้านห้วยมะเขือส้ม-บ้านรวมไทย-ถึงโครงการฯ ระยะทางประมาณ ๒๗๓ กิโลเมตร

             ๓. ทางหลวงหมายเลข ๔สายเชียงใหม่ -อำเภอหางดง -อำเภอสันป่าตอง -อำเภอดอยหล่อ -อำเภอจอมทอง -อำเภอฮอด-อุทยานแห่งชาติออบหลวง แยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๒๖๓ ไปอำเภอแม่แจ่ม-บ้านมานาจร-บ้านนาฮ่อง-บ้านปางอุ๋ง-อำเภอขุนยวม แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ – อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เดินทางต่อไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๕ (สายไปอำเภอปาย) ประมาณ ๘ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามเส้นทางบ้านกุงไม้สัก  บ้านแม่สะงา และบ้านหมอกจำแป่-บ้านห้วยขาน-พระตำหนักปางตอง-บ้านนาป่าแปก-แยกซ้ายไปบ้านห้วยมะเขือส้ม-บ้านรวมไทย-ถึงโครงการฯ ระยะทางประมาณ ๓๔๓ กิโลเมตร

             ๔. ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘สายเชียงใหม่-อำเภอหางดง-อำเภอสันป่าตอง-อำเภอดอยหล่อ-อำเภอจอมทอง-อำเภอฮอด-อุทยานแห่งชาติออบหลวง-อำเภอแม่สะเรียง-อำเภอแม่ลาน้อย-อำเภอขุนยวม–อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เดินทางต่อไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๕ (สายไปอำเภอปาย) ประมาณ ๘ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามเส้นทางบ้านกุงไม้สัก  บ้านแม่สะงา และบ้านหมอกจำแป่-บ้านห้วยขาน-พระตำหนักปางตอง-บ้านนาป่าแปก-แยกซ้ายไปบ้านห้วยมะเขือส้ม-บ้านรวมไทย-ถึงโครงการฯ ระยะทางประมาณ ๔๑๒ กิโลเมตร

 

 

สภาพภูมิประเทศ

          เป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อน ติดชายแดนประเทศสหภาพพม่า โดยมีทิวเขาถนนธงชัยกั้นพรมแดนพื้นที่โครงการฯ  มีแนวชายแดนติดต่อประเทศสหภาพพม่า ประมาณ ๑๔.๕๗ กิโลเมตร ทิวเขาถนนธงชัยเป็นทิวเขาที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของภาคเหนือ ประกอบไปด้วยเทือกเขาที่สำคัญหลายเทือกเขาวางซ้อนกันอยู่ในแนวเหนือใต้ จากด้านทิศตะวันตกไปด้านทิศตะวันออก ระดับความสูงของบริเวณนี้จะสูงมากด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกแล้วค่อยลดต่ำลง

          พื้นที่โครงการฯ ตั้งอยู่ตอนบนของลุ่มน้ำแม่สะงา และลุ่มน้ำสอย ซึ่งลุ่มน้ำทั้งสองจะไหลลงสู่ลำน้ำปาย และไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน ในพื้นที่มีลำห้วยสาขาที่สำคัญ ได้แก่ ห้วยน้ำตก ห้วยทหาร ห้วยปางตอง ห้วยบาแล ห้วยไม้สะเป่ ห้วยบุก และมีชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ

สภาพภูมิอากาศ

                ภูมิอากาศแบบร้อนชื้น โดยในฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนจัด อากาศหนาวจัดในฤดูหนาว และฝนจะตกชุกในฤดูฝนมีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี มี  ๓  ฤดู

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ช่วงระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ - กลางเดือนพฤษภาคม มีอากาศร้อน อบอ้าว
  • ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคมได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้อากาศชุ่มชื้นฝนจะตกชุกมากซึ่งมีปริมาณฝนมากที่สุดในเดือนสิงหาคม
  • ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม - กลางเดือนกุมภาพันธ์โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและความกดอากาศสูงจากประเทศจีน อากาศจะหนาวเย็นมาก

           อุณหภูมิจะแตกต่างกับในตัวเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ระหว่างกลางวันกับกลางคืน และฤดูร้อนกับฤดูหนาว ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเขาสูง อุณหภูมิทั้งกลางวันและกลางคืน จะอยู่ในช่วง ๑๕ - ๒๕ องศาเซลเซียส สำหรับฤดูหนาวจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและความกดอากาศสูงจากประเทศจีน อากาศหนาวจัดโดยอุณหภูมิต่ำสุดตลอดทั้งปีจะอยู่ในช่วง ๓.๙ – ๒๒.๐ องศาเซลเซียส 

ชนิดป่าและสัตว์ป่า            

           ชนิดป่าที่พบได้แก่ ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าสน ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง และมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม้ก่อชนิดต่าง ๆ ไม้สนสองใบ สนสามใบ สัก ทะโล้ งิ้วป่า มะม่วงป่า หว้า ไผ่ หวาย กล้วยไม้ป่า สำหรับสัตว์ป่าที่พบได้แก่ เก้ง หมูป่า ไก่ป่า ลิง นกนานาชนิด ฯลฯ

 

แหล่งที่มา  http://www.fca๑๖mr.com/webblog/blog.php?id=๒๐๖