กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ ๑๐ ธันวาคม

Release Date : 09-12-2020 00:00:00
วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ ๑๐ ธันวาคม

วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗  แห่ง ราชวงศ์จักรี  

ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยส่งผลให้เกิดการยกเลิก พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน     พ.ศ.๒๔๗๕ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั่นเอง

สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร   

คณะราษฎร คือกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันระหว่างข้าราชการและนักเรียนไทย ๗ คนในฝรั่งเศสและยุโรปที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยาม ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) เมื่อพวกเขากลับมาเมืองไทยก็ได้ขยายกลุ่มสมาชิกภายในประเทศและขอให้ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าคณะราษฎร โดยมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นแกนนำฝ่ายพลเรือน และหลวงพิบูลสงครามเป็นแกนนำฝ่ายทหารบก โดยมีสาเหตุหลัก ๆ คือ

  • เศรษฐกิจตกต่ำอันมีผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้รัชกาลที่ ๗ ทรงแก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออก  ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการและประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ
  • ชนชั้นกลางจำนวนมากไม่พอใจที่บรรดาเชื้อพระวงศ์ผูกขาดอำนาจการปกครองและการบริหารราชการ กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการให้มีการปกครองระบอบรัฐสภาและมีรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประเทศตะวันตก
  • พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย

จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหาร และราษฎรทั่วไป จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการปฏิวัติจากคณะราษฎร ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยหลังจากนั้นในวันที่ ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ และนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้ายรัฐธรรมนูญ นับเป็นการเริ่มต้นระบอบรัฐธรรมนูญของไทย

ต่อมาในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ทั้งนี้เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง และเป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนรัฐสภา โดยการปฏิบัติราชการต่าง ๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ (๒๗ มิถุนายน – ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕)

๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช ๒๔๗๕ (๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ – ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙) ถูกยกเลิกเพราะล้าสมัย

๒. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ (๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ – ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร

๓. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐ รัฐธรรมนูญตุ่มแดง หรือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม (๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ – ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒)

๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ (๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ – ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๔) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร

๕. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ (๘ มีนาคม ๒๔๙๕ – ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ

๖. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ (๒๘ มกราคม ๒๕๐๒ – ๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๑)

๗. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ (๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๑ – ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ

๘. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ (๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๕ – ๗ ตุลาคม ๒๕๑๗)

๙. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ (๗ ตุลาคม ๒๕๑๗ – ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 

๑๐. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๙ (๒๒ ตุลาคม ๒๕๑๙ – ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๐)

๑๑. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๐ (๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ – ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๑)

๑๒. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ (๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๑ – ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔) ถูกยกเลิกโดยคณะ รสช.

๑๓. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๓๔ (๑ มีนาคม – ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔)

๑๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ (๙ ธันวาคม ๒๕๓๔ – ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐) ถูกยกเลิกหลังตรารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

๑๖. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ฉบับประชาชน (๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ – ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙) ถูกยกเลิกโดยคณะ คปค.

๑๗. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ (๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ – ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐)

๑๘. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ (๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ – ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗)

๑๙. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ (๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ – ๖ เมษายน ๒๕๖๐)

๒๐. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ (๖ เมษายน ๒๕๖๐ – ปัจจุบัน)

     สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ถูกร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๖๐ ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ     บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร และมี พลเอกประยุทธ์         จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ

รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และยังเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคมไทย เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรกอันเป็นฉบับถาวร และเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้กับปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงกำหนดให้ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ

แหล่งที่มา https://masii.co.th/blog/วันรัฐธรรมนูญ