กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ในหลวง ร.๙ "วันพ่อแห่งชาติ" ๕ ธ.ค.ของทุกปี

Release Date : 03-12-2020 00:00:00
เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ในหลวง ร.๙ "วันพ่อแห่งชาติ" ๕ ธ.ค.ของทุกปี

วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี

เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันชาติ เป็นวันพ่อแห่งชาติ  

เมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ เรื่อง การกำหนดวันสำคัญของชาติไทย ความว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนด ว่า วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เป็นวันชาติ และเป็นวันพ่อแห่งชาติ

ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน


ประวัติ

วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา หลักการและเหตุผลที่มีการจัดตั้งวันพ่อแห่งชาติขึ้น เนื่องจากพ่อ เป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัว  และสังคมที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนและตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) เป็น "วันพ่อแห่งชาติ"

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

๒. เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม

๓. เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ

๔. เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน

กิจกรรม

๑. ประดับธงชาติไทยบริเวณอาคารบ้านเรือน

๒. จัดพิธีศาสนสงฆ์ ทำบุญใส่บาตร อุทิศเป็นพระราชกุศล น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

๓. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ มีพระบรมราชสมภพ วันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ตรงกับขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถอะ จุลศักราช ๑๒๘๙ รัตนโกสินทรศก ๑๔๖ บรมราชาภิเษก วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ตรงกับแรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล จุลศักราช ๑๓๑๒ รัตนโกสินทรศก ๑๖๙

 ในวันที่ ๕ ธันวาคม นอกจากจะเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็นวันพ่อแห่งชาติ แล้ว ยังถือว่าว่าวันนี้ เป็น “วันชาติของไทย” อีกด้วย 

 โดยทั่วไป “วันชาติ” มักจะหมายถึง วันเฉลิมฉลองที่ประเทศนั้น ๆ ได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราช หรือเป็นวันสถาปนาประเทศรัฐ ราชวงศ์ วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ วันเกิดประมุขของรัฐ หรืออาจจะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ   แต่มักจะถือเป็นวันหยุดประจำของชาติ ซึ่ง “วันชาติ” ของแต่ละประเทศจะเป็นวันใด ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดของประเทศนั้น ๆ

 สำหรับ ประเทศไทย เราเคยได้มีการกำหนดให้วันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็น “วันชาติ”ของไทย ด้วยถือว่าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยได้มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “วันชาติ” ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ โดย พ.อ.พหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น และได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติ ๒๔ มิถุนายน ครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๔๘๒ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี

วันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็น “วันชาติ” ของไทยอยู่นานถึง ๒๑ ปี ครั้น วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๐๓ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่ง เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยให้เหตุผลว่า 

 ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ ๒๔  มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้ง หลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมีพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 

 คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่าง ๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ โดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมา แล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติ เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

 คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ต่อไป โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายนเสีย

 ดังนั้นนับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันชาติ” ของไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หน้าที่ของบิดา-มารดาพึงมีต่อบุตร

    ห้ามมิให้ทำความชั่ว – ป้องกัน, ห้ามปราม มิให้ประพฤติเสียหาย

    ให้ตั้งอยู่ในความดี – ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม วัฒนธรรมประเพณี และกฎหมายบ้านเมือง

    ให้ศึกษาศิลปวิทยา – ส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาทั้งคดีโลก และคดีธรรม

    หาคู่ครองที่สมควรให้ – เลือกคู่ครองที่คู่ควร, เหมาะสมให้ในเวลาอันเหมาะสม

    มอบทรัพย์สมบัติให้ดูแลเมื่อถึงเวลาอันสมควร – มอบภาระหน้าที่การงานให้บริหาร และมอบมรดกให้ครอบครอง

หน้าที่ของบุตรพึงมีต่อบิดามารดา

    เลี้ยงดูบิดามารดาเป็นการตอบแทน – เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่าอย่าปล่อยให้ท่านอดรันทดใจในวัยชรา

    ช่วยทำกิจการงานของท่าน – ไม่นิ่งดูดายเป็นคนไร้น้ำใจเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่

    ดำรงวงศ์ตระกูล – ไม่ทำตระกูลให้เสื่อมและเสียหาย

    ประพฤติตนให้สมควรได้รับทรัพย์มรดก – ประพฤติตนให้ท่านไว้ใจและวางใจ ที่จะครอบครองสมบัติ

    ท่านเจ็บป่วยต้องรักษา ท่านมรณาต้องทำศพให้ – ทำความปรารถนาของพ่อแม่มิให้พังทลาย

แหล่งที่มา https://sites.google.com/a/hi-supervisory๕.net/npt๒/theskal/wan-phx