กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

ประวัติศาสตร์ "กรุงธนบุรี"

Release Date : 23-11-2020 00:00:00
ประวัติศาสตร์ "กรุงธนบุรี"

การสถาปนากรุงธนบุรี

  หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาสูญเสียเอกราชให้แก่พม่าแล้ว บ้านเมืองของประเทศไทยในสมัยนั้น ก็อยู่ในสภาวะระส่ำระสาย เนื่องจากขาดพระเจ้าแผ่นดินปกครองประเทศ ประชาชนที่ยังเหลือชีวิตรอดก็พากันหลบซ่อนตัวอยู่ตามป่า และตามหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลเมืองหลวง  อย่างไรก็ตาม การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ นี้ ก็ยังมีอีกหลายหัวเมืองที่ปลอดภัยจากการเข้าทำลายของพม่า จึงมีกลุ่มผู้นำคนไทยพยายามตั้งตัวเองขึ้นเป็นเจ้าชุมนุมขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อรวบรวมกำลังของประชาชนเข้ากอบกู้อิสรภาพให้แก่ประเทศชาตินั่นเอง สำหรับชุมนุมของคนไทยที่พยายามตั้งตัวขึ้นมาแบ่งออกได้เป็น  ๕  ชุมนุม  ได้แก่

                   ๑. ชุมนุมเจ้าพิมาย

                   ๒. ชุมนุมเจ้าพระฝาง

                   ๓. ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก

                   ๔. ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช

                   ๕. ชุมนุมเจ้าตาก หรือพระยาตาก(สิน)

โดยกลุ่มชุมนุมเจ้าตากหรือพระยาตาก(สิน)ถือเป็นกลุ่มชุมนุมที่สำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถกอบกู้เอกราชกลับคืนมาจากพม่าได้ โดยพระยาตากใช้เวลาในการเรียกร้องเอกราชคืนมาเพียง ๗  เดือน เท่ากับว่าประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ายังไม่ทันข้ามปี

พระราชประวัติของพระเจ้าตากสินมหาราช และการกอบกู้อิสรภาพให้แก่ประเทศไทย

  ‘สิน’ คือ พระนามเดิมของพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งนายสินเป็นเพียงสามัญชนคนธรรมดามีบิดาชื่อ ขุนพิพัฒน์ (ไหฮอง-เชื้อชาติจีน) และมีมารดาชื่อ นางนกเอี้ยง นายสินได้รับการศึกษาอบรมจนเมื่อเติบใหญ่ก็ได้เข้ารับราชการเป็นขุนนางในตำแหน่ง ‘เจ้าเมืองตาก’ และด้วยฝีมือการรบที่เข้มแข็งสมชายชาติทหาร จึงทำให้พระองค์ถูกเกณฑ์กำลังมาช่วยรักษาเอกราชของกรุงศรีอยุธยาไว้  แต่ด้วยความท้อใจพระองค์จึงยกพรรคพวกรวมได้ประมาณ ๕๐๐ คน ตีฝ่าวงล้อมของทหารพม่าออกไป และพระยาตากก็ได้ไปรวบรวมกำลังพล จากหัวเมืองในฝั่งทะเลตะวันออก พร้อมลงหลักปักฐานที่เมืองจันทบุรี เนื่องจากเห็นว่าเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ไปด้วยข้าวปลาอาหาร หลังจากที่พระยาตากต่อเรือและสามารถรวบรวมกำลังผู้คนได้พร้อมจำนวนหนึ่งแล้ว  พระยาตากก็ตัดสินใจเคลื่อนทัพเรือเพื่อมุ่งหน้าเข้าโจมตีกองทัพของพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้นทันที ในศึกครั้งนั้น       พระยาตากก็ได้สังหารสุกี้พระนายกองจนตายในสนามรบ ทำให้ประเทศไทยสามารถกอบกู้เอกราชจากพม่าได้อีกครั้ง หลังจากที่พระยาตามสามารถกอบกู้เอกราชได้สำเร็จแล้ว  เจ้านายและข้าราชการทั้งหลายก็พร้อมใจกันอัญเชิญให้พระยาตาก ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นผู้กอบกู้เอกราชให้แก่แผ่นดิน โดยทรง  พระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔” อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปก็ยังนิยมเรียกพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ว่า “พระเจ้าตากสิน หรือพระเจ้ากรุงธนบุรี” เสียมากกว่า หลังจากที่กอบกู้เอกราชให้แก่ประเทศไทยได้แล้วพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงเห็นว่า สภาพของกรุงศรีอยุธยาในครานั้นเสื่อมโทรมลงไปจากเดิมมาก เนื่องด้วยเพราะถูกทหารพม่าทำลายบ้านเมืองอย่างเสียหายด้วยวิธีการรบแบบกองโจร อีกทั้งยังเห็นว่า กรุงศรีอยุธยานั้นมีอาณาเขต   ที่กว้างใหญ่เกินกว่าที่กำลังของตนจะสามารถรักษาไว้ได้ และตั้งอยู่ห่างจากปากน้ำมากทำให้ไม่เหมาะต่อการค้า  ทางทะเล และสิ่งสำคัญประการสุดท้ายก็คือ เหตุผลที่ข้าศึกล่วงรู้ถึงภูมิประเทศของไทยเป็นอย่างดี ทำให้ฝ่ายไทยอาจเสียเปรียบด้านการถูกโจมตีได้ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้พระเจ้าตากสินตักสินใจที่จะย้ายราชธานีไปตั้งอยู่ที่กรุงธนบุรีแทน เนื่องจากทรงเห็นถึงข้อดีหลาย ๆ ประการ ดังต่อไปนี้

                   ๑. กรุงธนบุรีเป็นเมืองขนาดเล็ก สามารถดูแลควบคุมได้อย่างทั่วถึง

                   ๒. กรุงธนบุรีตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้สะดวกต่อการติดต่อค้าขาย

                   ๓. กรุงธนบุรีมีช่องทางในการหลบหนีได้ง่ายกว่า ในกรณีที่ถูกข้าศึกโจมตีจนไม่อาจรับมือได้ ก็สามารถย้ายฐานที่ตั้งไปอยู่ที่จันทบุรีได้

                  ๔. กรุงธนบุรีธนบุรีมีป้อมปราการที่แข็งแรงซึ่งเคยก่อสร้างไว้ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

การรวบรวมไทยให้เป็นปึกแผ่น และการขยายอาณาจักร 

   พระเจ้าตากสินใช้เวลาเพียง  ๓  ปี ในการกอบกู้เอกราชและรวบรวมชนชาวไทยให้เป็นปึกแผ่นได้ดังเดิม  โดยสาเหตุสำคัญที่พระเจ้าตากสินมหาราชประสบความสำเร็จในการกอบกู้เอกราชหรือการรวบรวมคนไทยได้อย่าแน่นแฟ้นนั้น ก็เป็นเหตุผลมาจากพระปรีชาสามารถในการรบ การมัดใจคน และการสร้างระเบียบวินัยหรือกล้าหาญให้แก่ทหารของพระองค์ แต่หลังจากที่กรุงธนบุรีถูกสถาปนาขึ้นเป็นราชธานีแล้ว ไทยก็ยังคงต้องร่วมสู้รบกับพม่าอีกถึง ๙ ครั้ง เพื่อปกป้องอาณาจักรไทย แต่ในทุกครั้งพระเจ้าตากสินก็ยังสามารถป้องกันบ้านเมืองให้ปลอดภัยไว้ได้โดยสำเร็จ

การขยายอาณาจักร

 เมื่อเหตุการณ์วุ่นวายภายในกรุงธนบุรีสงบเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงเริ่มคิดที่จะขยายอาณาเขตไปยังประเทศที่อยู่ใกล้เคียง ดังต่อนี้

  ๑. ขยายอาณาจักรไปยังเขมร

  ครั้งแรกเป็นช่วงเวลาที่เขมรกำลังเกิดการแย่งอำนาจกันเองในประเทศ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้พระยาอภัยรณฤทธิ์หรือทองด้วงและพระยาอนุชิตราชาหรือบุญมายกทัพไปปราบปราม แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะเขมรแกล้งปล่อยข่าวลือว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคต ทำให้พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชารีบยกทัพกลับมา ภายหลังไม่นานพระเจ้าตากสินก็โปรดให้ยกทัพไปโจมตีเขมรเป็นครั้งที่สอง และครั้งนี้ก็สามารถตีเขมรได้สำเร็จในปี  พ.ศ.  ๒๓๑๔ และได้เขมรกลับมาเป็นประเทศราชของไทย นอกจากนี้ในปี  พ.ศ.  ๒๓๒๓  พระเจ้าตากสินก็ได้โปรดให้ยกทัพไปปราบกบฎในเขมร  แต่ยังไม่ทันจะสำเร็จก็ต้องยกทัพกลับมาไทย เพราะเกิดเหตุจลาจลในกรุงธนบุรีพอดี

  ๒. การขยายอำนายไปยังลาว

  พระเจ้าตากสินได้ยกทับไปตีเมืองลาวถึง ๒ ครั้ง คือ ปี พ.ศ.๒๓๑๙ ในศึกจำปาศักดิ์ และปี พ.ศ.๒๓๒๑ ในศึกเวียงจันทร์ ซึ่งผลของการทำสงครามทั้ง ๒ ครั้ง ปรากฎว่าไทยเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะโดยตลอด และได้ลาวเป็นประเทศราช ส่วนในครั้งที่ทำศึกเวียงจันทร์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกที่เป็นแม่ทัพไทยในขณะนั้น ก็ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต และพระบาง กลับมากจากเวียงจันทร์เพื่อมาประดิษฐานอยู่ที่กรุงธนบุรีด้วย

 การขยายอำนาจในสมัยกรุงธนบุรีทำให้อาณาเขตของประเทศไทยในสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินกินบริเวณกว้างขวางมากขึ้น  ดังต่อไปนี้

ทิศเหนือ  ได้แก่ เมืองหลวงพระบาง เวียงจันทน์ ทิศตะวันออก ได้แก่ ลาว และเขมรฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ยาวไปจนติดดินแดนญวน  ทิศใต้  ได้แก่ เมืองกลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี ทิศตะวันตก ได้แก่ เมืองเมาะตะมะทวาย    และตะนาวศรี

นับว่าพระเจ้าตากสินทรงเป็นมหาวีรกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ผู้กระทำคุณประโยชน์เอาไว้ให้แก่ประเทศชาติของเราอย่างมากมาย แต่ในช่วงปลายรัชกาล พระองค์เกิดอาการเสียพระจริต  ทำให้จำเป็นต้องถูกข้าราชการปลดพระองค์ออกจากราชสมบัติ ทำให้พระเจ้าตากสินรวมระยะเวลาในการครองราชย์อยู่ได้เพียง ๑๕ ปี เท่านั้น และสิ้นสุดรัชสมัยในการปกครองกรุงธนบุรีในปี พ.ศ.๒๓๒๕

แหล่งที่มา https://sites.google.com/site/natchapon๑๒๓๔๒๕/prawatisastr-krungthnburi