กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช "โครงการแกล้งดิน"

Release Date : 16-11-2020 00:00:00
 โครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  "โครงการแกล้งดิน"

แกล้งดิน หมายถึง กระบวนการเร่งปฏิกิริยาเคมีในดินซึ่งมีศักย์หรือความพร้อมจะเป็นดินเปรี้ยว ให้เปรี้ยวรุนแรงมีกรดจัด จากนั้นจึงปรับปรุงโดยเติมปูนขาวหรือด่าง ร่วมกับการใช้ระบบชลประทานนำน้ำมาเจือจาง ดินเปรี้ยวจนสามารถเพาะปลูกได้ เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทาน เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๗ เพื่อการทดลองที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อได้ผลแล้วจึงนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ดินเปรี้ยว เช่น พรุในจังหวัดนราธิวาส และพื้นที่ดินเปรี้ยวในจังหวัดนครนายก เป็นต้น การแกล้งดิน คือการเร่งปฏิกิริยาเคมีของดินที่มีแร่กำมะถัน หรือสารประกอบไพไรต์ (Pyrite) โดยทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน เมื่อดินแห้งสัมผัสกับอากาศ ทำให้แร่กำมะถันกลายเป็นออกไซด์ของเหล็กและซัลเฟต เมื่อทำให้ดินเปียกซัลเฟตผสมกับน้ำกลายเป็นกรดอีกครั้ง เมื่อดินถูกแกล้งสลับไปมาจนกลายเป็นดินที่เปรี้ยวรุนแรงหรือเป็นกรดจัด จากนั้นจึงปรับปรุงดินโดยเติมฝุ่นปูนซึ่งเป็นด่าง ร่วมกับการใช้ระบบชลประทานควบคุมระดับน้ำ ใต้ดินและนำน้ำมาเจือจางดินเปรี้ยวจนสามารถเพาะปลูกข้าว พืชไร่เช่น ข้าวโพด ผลไม้เช่นเสาวรสและเลี้ยงปลาเช่นปลานิลได้แนวพระราชดำริแกล้งดินมาจากการเลียนแบบสภาพธรรมชาติของพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีฤดูแล้ง ๔ เดือน ฤดูฝน ๘ เดือน การทดลองใช้วิธีร่นระยเวลาช่วงแล้งและช่วงฝนในรอบปีให้สิ้นลง ปล่อยให้ดินแห้ง ๑ เดือน และ  ขังน้ำให้ดินเปียกนาน ๒ เดือน ปีหนึ่งจึงมีภาวะดินแห้งและดินเปียก ๔ รอบ เหมือนมีฤดูแล้งสลับฤดูฝนปีละ ๔ ครั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ศึกษาวิจัยและปรับปรุงดินโดยวิธีการแกล้งดินจนประสบผลสามารถแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่พรุให้เพาะปลูกได้ และขยายผลไปยังพื้นที่พรุบ้านโคกอิฐ-โคกโพธิ์ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวไร่ละ ๕-๑๐ ถัง เป็น ๔๐-๕๐ ถัง เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๕ นอกจากนี้ยังนำแนวพระราชดำริแกล้งดินไปใใช้ในพื้นที่พรุแฆแฆ จังหวัดปัตตานี มีการปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท ข้าวพันธุ์แก่นจันทร์ ข้าวพันธุ์เฉี้ยงพัทลุง ข้าวพันธุ์หอมสุพรรณบุรี ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ พุทธศักราช ๒๕๕๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาต แก่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ดำเนินการขอจดสิทธิบัตร และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เลขที่ ๒๒๖๓๗ วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐ สำหรับการประดิษฐ์คือ กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก (โครงการแกล้งดิน)

พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้ง และศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด ๒ ปี และพืชที่ทำการทดลองปลูกควรเป็นข้าว...”  วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๒๗

“...โครงการแกล้งดินนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่พูดมา ๓ ปีแล้วหรือ ๔ ปีกว่าแล้ว ต้องการน้ำสำหรับ มาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี่แล้วมันได้ผล ดังนั้น ผลงานของเราที่นี่เป็นงานสำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศเขามาดูเราทำอย่างนี้แล้วเขาพอใจ เขามีปัญหาแล้ว เขาก็ไม่ได้แก้    หาตำราไม่ได้...” วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๓๕

ความเป็นมา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชดำริ ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดำเนินการศึกษา ทดลอง เพื่อหาวิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ เป็นต้นมา

ผลการทดลอง

การแกล้งดิน เป็นการเร่งทำให้ดินเปรี้ยวเป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด จนไม่สามารถปลูกพืช เศรษฐกิจได้ จากนั้นหาวิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดรุนแรงที่สุด ให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ โดยอาศัยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

๑. การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกข้าว

    ๑.๑ การใช้น้ำล้างความเป็นกรด ในปีแรกข้าวเจริญเติบโต แต่ให้ผลผลิตต่ำ และผลผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีต่อมา ช่วงเวลาของการขังน้ำ และระบายน้ำทิ้งที่เหมาะสมคือ ๔ สัปดาห์

    ๑.๒ การใส่หินปูนฝุ่น ข้าวเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีกว่า การใส่หินปูนอัตราครึ่งหนึ่งของความต้องการปูน (๑.๕ ตัน/ไร่) ข้าวให้ผลผลิตเทียบเท่ากับการใส่ปูนเต็มอัตราแนะนำ

    ๑.๓ การใส่ปูนอัตราต่ำ (ครึ่งหนึ่งของความต้องการปูน) เพื่อสะเทินกรด ควบคู่กับการขังน้ำ แล้วเปลี่ยนน้ำทุก ๆ ๔ สัปดาห์ ข้าวจะให้ผลผลิตดีที่สุด

๒. การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกพืชไร่ พืชผัก โดยใส่หินปูนฝุ่นอัตรา ๒ ตัน/ไร่ ร่วมกับการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมีอัตราแนะนำ

๓. การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกไม้ผล ควรขุดยกร่องเพื่อป้องกันน้ำท่วมและช่วยล้างกรด บนคันดินลงสู่คูด้านล่างควรปรับปรุงดินบริเวณสันร่องก่อน โดยหว่านหินปูนฝุ่นอัตรา ๒ ตัน/ไร่ เพื่อสะเทินกรด ก่อนปลูกพืชรองก้นหลุมด้วยปูนขาวหรือหินปูนฝุ่นร่วมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ไม้ผลที่ทดลองปลูกได้ผลดี คือ มะพร้าวน้ำหอม ละมุด กระท้อน ชมพู่

๔. จากการทดลองปรับปรุงดินแล้วไม่ใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง พบว่าดินจะเปรี้ยวจัดรุนแรงอีก

๕. ดินเปรี้ยวจัดในสภาพที่ไม่ถูกรบกวน ความเป็นกรดจะเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ และพืชพรรณธรรมชาติที่ทนทานความเป็นกรดขึ้นได้หลายชนิด

จากพระราชดำริให้ดำเนินโครงการ “แกล้งดิน” และจากพระราชดำรัสของระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังกล่าว พบว่า “โครงการแกล้งดิน” เป็นโครงการที่มีความเป็นนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในประเทศเขตร้อน และยังไม่มีที่ใดในโลกที่ใช้วิธีการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าว และนำมาทำเป็นตำราเผยแพร่ แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเป็น “นวัตกร” อย่างแท้จริง ทั้งนี้ แนวพระราชดำริดังกล่าวได้เน้นให้เห็นถึงการประสมประสานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีควบคู่กับนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ จนได้วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขดินเปรี้ยวได้

ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านนวัตกรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และความตั้งพระราชหฤทัยที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยนั้น เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติคุณกันทั่วทิศานุทิศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้บำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากหลายซึ่งเป็นคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่อชาวไทยและชาวโลก และเนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในปี ๒๕๔๙ นี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติพระองค์เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณให้สถิตสถาพร อีกทั้งเพื่อเป็นเกียรติและสิริอันสูงยิ่งแก่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และวงการนวัตกรรมไทยสืบต่อไป

แหล่งที่มา https://sites.google.com/site/yanisatecha๒๐/khorngkar-rachdari/khorngkar-kaelng-din