กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

๑๑๐ ปี แห่งการเลิกทาสไทย

Release Date : 01-04-2021 00:00:00
๑๑๐ ปี แห่งการเลิกทาสไทย

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ นั้น

มีพระราชดำริอันยิ่งใหญ่ว่า

"...การสิ่งไรซึ่งเป็นการเจริญมีคุณแก่ราษฎร ควรเป็นไป ให้ทีละเล็กละน้อยตามกาลเวลา การสิ่งไรซึ่งเป็นธรรมเนียม บ้านเมืองมาแต่โบราณ แต่ไม่สู้เป็นยุติธรรม ก็อยากจะเลิกถอนเสีย"

 พระราชกรณียกิจที่สำคัญประการหนึ่งตามพระราชดำริที่ทรงกำหนดไว้ ที่นักประวัติศาสตร์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ กล่าวสรรเสริญ พระบารมีไปทั่วทุกสารทิศคือ การเลิกทาส อันนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย เพราะทาสเป็นสถาบันที่มีมากว่า ๕๐๐ ปี ความสำเร็จครั้งนี้มิใช่อยู่ที่ "ทรงประกาศเลิกทาส" หากแต่อยู่ที่ว่า "ทรงดำเนินการเลิกทาสได้โดยเรียบร้อย ละมุนละม่อมไม่เสียเลือดเนื้อ" ดังเช่นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะ เลิกทาส มาตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ แต่ขัดข้องด้วยโบราณราชประเพณีของบ้านเมืองจะหาผู้ที่สนับสนุนพระราชดำรินั้นได้ยาก เพราะบุคคลชั้นสูงต้องใช้แรงงานทาสทำงานต่าง ๆ ช่วยกิจการบ้านเรือน หากเลิกทาส คือปล่อยคนสำหรับใช้สอยไปหมด ก็จะไม่สามารถเลี้ยงตัวได้ การจ้างแรงงานคนใช้แทนทาสก็เป็นการสิ้นเปลือง นายเงินเจ้าของทาส จึงต้องเอาใจใส่เลี้ยงดูทาสให้กินอยู่ใช้สอยแต่พอสมควร ส่วนทาสนั้นก็เข้าใจว่า หากพ้นจากเป็นทาสจะกลับได้รับความเดือดร้อนต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพเอง มีความลำบากกว่าการเป็นทาสที่นายเงินเลี้ยง

 

ดังนั้น พระราชดำริ จะเลิกทาสในระยะแรก จึงขัดกับความนิยมของมหาชน คงเกิดเรื่องยุ่งยากขึ้นอย่างแน่นอน จึงทรงหาวิธีที่จะเลิกทาสโดยไม่ให้คนเหล่านั้นรู้สึกเดือดร้อน ทรงใช้วิธี เกษียณอายุ นั่นคือ กำหนดค่าชดใช้ที่นายต้องเลี้ยงดู ให้บรรดาลูกทาสลูกไทที่เกิดในรัชกาลของพระองค์ ตั้งแต่ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๑๑ พ้นจากการเป็นทาส ได้ประกาศใช้ "พระราชบัญญัติพิกัดกระเษียณอายุลูกทาสลูกไทย" เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๓๖ ตรงกับวันที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๑๗ ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ อันเป็นสถานที่พระบรมราชสมภพของพระองค์

 แต่เพราะจุลศักราช ๑๒๓๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๑๑ เป็นปีที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ บรมราชาภิเษกในพระมหาเศวตฉัตรเป็นปีมหามงคลอันประเสริฐ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งปีมะโรง สัมฤทธิศกเป็นต้น พระราชบัญญัติลักษณะลูกทาส คือให้บังคับใช้กฎหมายนี้ย้อนหลัง ๖ ปี โดยถือว่า ปีมะโรงที่ทรงได้รับราชสมบัติเป็นปีเริ่มพระราชบัญญัติ ดังนั้นผู้ที่เกิดปีที่ทรงได้รับราชสมบัติแม้จะเกิดเป็นลูกทาส ก็พ้นจากความเป็นทาสอย่างช้าที่สุดเมื่ออายุ ๒๑ ปี คือในพุทธศักราช ๒๔๓๒ ส่วนผู้ที่เกิดปีถัดมา ก็พ้นความเป็นทาส ในพุทธศักราช ๒๔๓๓ เช่นนี้เรื่อยไป และผู้ที่เกิดตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๒ เป็นต้นไป ได้เป็นไทยทั่วกันหมด แม้จะสมัครเป็นทาสก็ไม่สามารถเป็นได้ การกระทำดังนี้ในระยะแรกทำให้ทาสในเมืองไทยหมดสิ้นไปเป็นหมื่นคน

เมื่อออกประกาศนั้นไม่มีผู้ใดคัดค้านหรือแสดงความยินดี เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติมีเพียงเด็กอายุ ๖ ขวบเป็นอย่างมาก มีเพียงเสียงเล่าลือบ้างแล้วก็เงียบหายไป เริ่มมีปัญหาเมื่อผ่านพ้นไปหลายปี เนื่องจากบิดามารดาใช้อุบายขายลูกที่เป็นไทตามพระราชบัญญัติให้กลับเป็นทาสด้วยการหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัติ จึงทรงออกประกาศฉบับต่อ ๆ มาอีกหลายฉบับ

 เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีน้ำพระทัยเมตตาปรานีแก่พสกนิกรของพระองค์ "ประดุจบิดาปรานีบำรุงเลี้ยงดูบุตรอันเป็นที่รัก" ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระองค์ทรงประกาศเลิกทาสแล้ว ก็ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ประการหนึ่ง อันแสดงถึงน้ำพระทัยต่อทาสด้วยคือ ในคราวเฉลิมพระชนมพรรษา ๒ รอบ พุทธศักราช ๒๔๒๐ พระองค์ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์วันละบาทหนึ่ง ในการที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๒๔ พรรษา เป็นเงิน ๘,๗๖๗ บาท พระราชทานช่วยทาสซึ่งขายตัวอยู่กับนายเงินคนเดียวมาตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๓๙๖ รวมทั้งลูกหลานของทาสนั้นด้วย เพราะมีพระราชดำริว่า

"พวกทาสซึ่งอยู่กับนายเงินเดียวถึง ๒๕ ปี คงจะเป็นคนดี มากกว่าคนชั่ว พอจะตั้งตัวทำมาหากินให้เป็นสุขได้ตามกำลัง ประการหนึ่งคนเหล่านี้ ต้องทนทุกข์ยากเป็นทาสมาช้านาน ถึง ๒๕ ปีขึ้นไป มิได้คิดยักย้ายเปลี่ยนแปลงจากนายของตัว สมควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดให้พ้นทาสได้"

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยไถ่ตัวให้พ้นจากทาส รวมทาสชายหญิงและลูกทาสทั้งสิ้น ๔๔ คน อีกทั้งโปรดเกล้าฯ พระราชทานไร่นาและเครื่องใช้สอยต่าง ๆ สำหรับประกอบการทำมาหากินต่อไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม "พระราชบัญญัติพิกัดกระเษียณอายุลูกทาสลูกไทย" นั้น แม้จะใช้บังคับทั่วพระราชอาณาจักร แต่ความจริงกลับปรากฏว่า มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ มณฑลบูรพาและมณฑลไทรบุรี รวมทั้งเมืองกลันตันและเมืองตรังกานู ไม่ได้มีผลใช้บังคับด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเลิกทาสในมณฑลทั้ง ๓ ในเวลาต่อมา โดยเริ่มประกาศใช้ในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือก่อน ทรงถือเอาวันเสด็จ พระราชดำเนินกลับจากยุโรป เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๔๐ เป็นวันกำหนดให้ลูกทาสที่เกิดก่อนและในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๔๐ เป็นวันเลิกทาสในมณฑลนี้ ส่วนมณฑลบูรพาและมณฑลไทรบุรี ก็ได้ทรงออกประกาศเกี่ยวกับทาสเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๔๗ และ พุทธศักราช ๒๔๔๘ ตามลำดับ

 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีพระราชประสงค์ที่จะให้ทาสในประเทศไทยหมดไปในรัชกาลของพระองค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๔" ขึ้น ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๔๘ เป็นต้นไป บรรดาลูกทาสจึงได้เป็นไททั้งหมด และหมดไปโดยสิ้นเชิง ในทุกภาคทุกมณฑลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๔

ในโอกาสวันครบรอบ ๑๑๐ ปี แห่ง การเลิกทาส ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ เหล่าพสกนิกรชาวไทยทั้งปวง ต่างสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระเมตตาบริจาคมหาทานอันประเสริฐยิ่ง ให้อาณาประชาราษฎร์ได้เป็นไทยแท้สมนามแห่งชาติ ไม่มีผู้ใดเป็นทาสอีกต่อไป คงเหลือไว้เพียง ประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำและพระมหากรุณาธิคุณอันสูงสุดแห่ง พระปิยมหาราช เท่านั้น

 

แหล่งที่มา https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/873959