กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

โครงการพระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ ๙ "ด้านการเกษตรและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน"

Release Date : 25-03-2021 00:00:00
โครงการพระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ ๙ "ด้านการเกษตรและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน"

โครงการพระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ ๙ "ด้านการเกษตรและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน"

 

"การเกษตรถือเป็นรากฐานและชีวิตสำหรับประเทศของเรา เพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นผู้มีอาชีพทางเกษตรกรรม  วิธีการพัฒนาที่เหมาะสมแก่ประเทศเรา คือจะต้องทำนุบำรุงเกษตรกรรมให้พัฒนาก้าวหน้า เพื่อยกระดับความเป็น อยู่ของเกษตรกรให้สูงขึ้น”

 

“การเกษตรนั้นถือได้ว่าเป็นทั้งรากฐานและชีวิตสำหรับประเทศของเรา เพราะคนไทยเราส่วนใหญ่เป็นผู้มีอาชีพ ทางเกษตรกรรม ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นเสมอมาว่า วิธีการพัฒนาที่เหมาะสมแก่ประเทศเราอย่างยิ่ง ก็คือจะต้อง  ทำนุบำรุงเกษตรกรรมทุกสาขาให้พัฒนาก้าวหน้า เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกระดับให้สูงขึ้น” ด้านการเกษตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสนใจด้านนี้ พระองค์ได้เสด็จเยี่ยมไต่ถามความทุกข์สุขของประชาชน และรับฟังข้อปัญหา เกิดเป็นโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชลประทาน การพัฒนาดิน การวิจัยพันธุ์พืชและปศุสัตว์ เป็นต้น ดังหัวข้อต่อไปนี้

๑. ทรัพยากรน้ำ

เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร พระราชดำรัสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเคยพระราชทานแก่คณะผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า

                      “หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูกเพราะว่าชีวิตนั้นอยู่ที่น้ำ

                                          ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้”

 

 โครงการตามพระราชดำริของพระองค์ มีทั้งการแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย รวมไปถึงการบำบัด   น้ำเสีย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำมีทั้งโครงการขนาดใหญ่ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมได้ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี จนถึงโครงการขนาดกลางและเล็ก จำพวกฝาย อ่างเก็บน้ำ โดยพระองค์ทรงคำนึงถึงลักษณะของภูมิประเทศ สภาพแหล่งน้ำ ความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ ประชาชนที่ได้รับประโยชน์ และผลกระทบจากโครงการ มาเป็นหลักในการพิจารณา พระองค์ได้ทรงวิจัยและริเริ่ม โครงการฝนหลวงเพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้งสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำเน่าเสียในคูคลอง ทรงมีพระราชดำริเรื่องแก้มลิง ควบคุมการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ลำคลองต่าง ๆ ลงสู่อ่าวไทย ตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล ทั้งยังเป็นการใช้น้ำดีไล่น้ำเสียออกจากคลองได้อีกด้วย เครื่องกลเติมอากาศ กังหันชัยพัฒนา ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการเพิ่มออกซิเจน เป็นสิ่งประดิษฐ์หนึ่งของพระองค์ที่ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖

 

๒. ทรัพยากรดิน

    แกล้งดิน เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรด โดยมีการขังน้ำไว้ในพื้นที่ จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัดจนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออก และปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้
    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ทรงพบว่า ดินในพื้นที่พรุที่มีการชักน้ำออกเพื่อจะนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตรนั้น แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุด และให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วย การแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากดินมีลักษณะเป็นเศษอินทรียวัตถุหรือซากพืชเน่าเปื่อยอยู่ข้างบน และมีระดับความลึก ๑-๒ เมตร เป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบกำมะถัน ที่เรียกว่า สารประกอบไพไรท์ (Pyrite : FeS๒) อยู่มาก ดังนั้น เมื่อดินแห้ง สารไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ "แกล้งดิน" เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการ "แกล้งดินให้เปรี้ยว" คือทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น "แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด" จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้ วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ คือควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์

   จากการทดลอง ทำให้พบว่า วิธีการปรับปรุงดินตามสภาพของดินและความเหมาะสม มีอยู่ ๓ วิธีการด้วยกัน คือ

   ๑. ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เพราะเมื่อดินหายเปรี้ยว จะมีค่า PH เพิ่มขึ้น หากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟต ก็จะทำให้พืชให้ผลผลิตได้

   ๒. ใช้ปูนมาร์ลผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน

   ๓. ใช้ทั้งสองวิธีข้างต้นผสมกันได้

 

๓. เกษตรทฤษฎีใหม่

    ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเกี่ยวกับการจัดพื้นที่ เพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีแบ่งพื้นที่เป็นส่วน ๆ ได้แก่ พื้นที่น้ำ พื้นที่ดินเพื่อเป็นที่นาปลูกข้าว พื้นที่ดินสำหรับปลูกพืชไร่นานาพันธุ์ และที่สำหรับอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ในอัตราส่วน ๓:๓:๓:๑ เป็นหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็ก ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้
   ๑. มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็กออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
   ๒. มีการคำนวณโดยหลักวิชาการเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียงต่อการเพาะปลูกได้ตลอดปี
   ๓. มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบสำหรับเกษตรกรรายย่อย ๓ ขั้นตอน เพื่อให้พอเพียงสำหรับเลี้ยงตนเองและเพื่อเป็นรายได้
พื้นที่โครงการตามแนวทฤษฎีใหม่

- โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน บ้านแดนสามัคคี ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

- โครงการทฤษฎีใหม่ปักธงชัย หรือทฤษฎีใหม่บ้านฉัตรมงคล ตำบลปักธงชัยเหนือ อำเภอปักธงชัย นครราชสีมา

- ทฤษฎีใหม่หนองหม้อ ตำบลหนองหม้อ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

๔. เศรษฐกิจพอเพียง

    เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงชีวิต ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นต้นมา และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

   เศรษฐกิจพอเพียงมีบทบาทต่อการกำหนดอุดมการณ์การพัฒนาของประเทศ โดยปัญญาชนในสังคมไทยหลายท่านได้ร่วมแสดงความคิดเห็น อย่างเช่น ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.เสน่ห์ จามริก ศ.อภิชัย พันธเสน และ ศ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา โดยเชื่อมโยงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งเคยถูกเสนอมาก่อนหน้าโดยองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวนหนึ่ง นับตั้งแต่พุทธทศวรรษ ๒๕๒๐ และได้ช่วยให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

   สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่น ๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ และได้จัดทำเป็นบทความเรื่อง "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" และได้นำความกราบบังคลทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นำบทความที่ทรงแก้ไขแล้วไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒

   ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจาก องค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน โดยมีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในขณะเดียวกัน บางสื่อได้มีการตั้งคำถามถึงการยกย่องขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งความน่าเชื่อถือของรายงานศึกษาและท่าทีขององค์การ

   แนวคิด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พัฒนาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่จะให้พสกนิกรชาวไทยได้เข้าถึงทางสายกลางของชีวิตและเพื่อคงไว้ซึ่งทฤษฎีของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทฤษฎีนี้เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตซึ่งอยู่ระหว่าง สังคมระดับท้องถิ่นและตลอดระดับสากล จุดเด่นของแนวปรัชญานี้คือ แนวทางที่สมดุล โดยชาติสามารถทันสมัย และก้าวสู่ความเป็นสากลได้ โดยปราศจากการต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์ และการอยู่ร่วมกันของทุกคนในสังคม

  หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทย ต้องประสบปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจ และต้องการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพ เพื่อที่จะยืนหยัดในการพึ่งพาผู้อื่น และพัฒนานโยบายที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริว่า มันไม่ได้มีความจำเป็นที่เราจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ พระองค์ได้ทรงอธิบายว่า ความพอเพียงและการพึ่งตนเอง คือ ทางสายกลาง   ที่จะป้องกันการเปลี่ยนแปลงความไม่มั่นคงของประเทศได้

เศรษฐกิจพอเพียงเชื่อว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมของชมชุนให้ดีขึ้นโดยมีปัจจัย ๒ อย่าง คือ

   ๑. การผลิตจะต้องมีความสัมพันธ์กันระหว่างปริมาณผลผลิต และการบริโภค

   ๒. ชุมชนจะต้องมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรของตนเอง

ผลที่เกิดขึ้นคือ

- เศรษฐกิจพอเพียงสามารถที่จะคงไว้ซึ่งขนาดของประชากรที่ได้สัดส่วน

- ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม

- รักษาสมดุลของระบบนิเวศ และปราศจากการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก

 

แหล่งที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช_บรมนาถบพิตร