กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                       กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ                                         กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

ประวัติ ทัพเรือภาคที่ ๒

Release Date : 10-09-2022 00:00:00
ประวัติ ทัพเรือภาคที่ ๒

กระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติอัตรา "กองเรือภาค" เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕ เพื่อปฏิบัติการทางทะเลแทนกองเรือเฉพาะกิจ ทั้งในยามสงบและยามสงคราม ในการปกป้องคุ้มครองเอกราช และอธิปไตยของชาติ รักษาผลประโยชน์ และทรัพยากรของชาติทางทะเล ตลอดจนช่วยเหลือประชาชน ในกรณีมีภัยพิบัติต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อเหตุการณ์ โดยปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของกองทัพเรือ เมื่อ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ได้มี "พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพเรือ กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๒" กำหนดให้ "ทัพเรือภาคที่ ๒ " เป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ มีหน้าที่ "ป้องกันราชอาณาจักรและรักษาความมั่นคง รวมทั้งผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในพื้นที่รับผิดชอบจากภัยคุกคามต่าง ๆ และดำเนินการเกี่ยวกับการฐานทัพ การป้องกันพื้นที่ การสารวัตรทหาร กิจการพลเรือน และการควบคุมเรือพาณิชย์ตามที่ได้รับมอบหมาย มีผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ ๒ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

ภารกิจ ทัพเรือภาคที่ ๒

๑. ป้องกันราชอาณาจักร
๒. รักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
๓. ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในทะเล
๔. ดำเนินการเกี่ยวกับการฐานทัพ การป้องกันพื้นที่ การสารวัตรทหาร กิจการพลเรือนและการควบคุมเรือพานิชย์

พื้นที่รับผิดชอบ

ทัพเรือภาคที่ ๒ กองทัพเรือ รับผิดชอบพื้นที่ทางทะลบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่ทางบกบริเวณจุดรอยต่อ บ้านเหนาะ อำเภอละแม จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานีและนราธิวาส โดยครอบคลุมถึงพื้นที่ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี จากชายฝั่งทะเลไปจนถึงทะเลจีนใต้ที่ไม่ใช่ทะเลอาณาเขตของประเทศอื่น พื้นที่รับผิดชอบ ๓๔,๕๐๐ ตารางไมล์ทะเล โดยมีกองบัญชาการทัพเรือภาคที่ ๒ เป็นกองบัญชาการ โดยมีสถานที่ตั้งอยู่เลขที่ ๓ ถนนริมทะเล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ๙๐๐๐๐

ภารกิจ

" ปฏิบัติการทางเรือเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติเมื่อมีภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ รักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติทางทะเล และบริเวณชายฝั่งในพื้นที่รับผิดชอบ "
การปฏิบัติตามภารกิจของทัพเรือภาคที่ ๒ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายทั้งในยามปกติและในยามสงครามสามารถกำหนดเป็นการปฏิบัติได้ดังนี้
๑. ควบคุมทะเลและขัดขวางการปฏิบัติการของกำลังทางเรือข้าศึก
๒. สนับสนุนและร่วมมือกับเหล่าทัพอื่น รวมทั้งส่วนราชการอื่นในการป้องกันประเทศ
๓. รักษากฎหมายในทะเลตามพระราชบัญญัติบางฉบับที่มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือ
๔. คุ้มครองแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทยและป้องกันสิทธิและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
๕. คุ้มครองและช่วยเหลือเรือประมงไทยที่ได้รับภัยคุกคามจากฝ่ายตรงกันข้าม
๖. ป้องกันภัยคุกคาม เช่น การแทรกซึมทางทะเลการลักลอบส่งคนและยุทโธปกรณ์ขึ้นฝั่ง
๗. ต่อต้านการก่อการร้าย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลและลำเลียงทางทะเล
๘. ป้องกันการอพยพ/หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลป้องกันและปราบปรามโจรสลัด และ การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศุลกากร การประมงและกฎหมายอื่น ๆ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรือ
๙. ป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมป้องกันและขจัดมลพิษในทะเลและบริเวณชายฝั่ง

การจัดหน่วยและการประกอบกำลัง

ทัพเรือภาคที่ ๒ มีการจัดหน่วยและการประกอบกำลังดังนี้
๑. หมวดเรือเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ ๒ ประกอบด้วยเรือชนิดต่าง ๆ เช่น เรือฟริเกต เรือคอร์เวต เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ เรือตรวจการณ์ปืน เป็นต้น
๒. หมวดบินเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ ๒ ประกอบด้วยอากาศยานประเภทต่างๆ เช่น บ.ดอร์เนียร์ บ.T-337 และ ฮ. S-76 B
๓. ชุดปฏิบัติการพิเศษทัพเรือภาคที่ ๒ ประกอบด้วย ๒ ชุดปฏิบัติการพิเศษนักทำลายใต้น้ำจู่โจม

แนวความคิดในการปฏิบัติ

เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งยังอยู่ในขั้นยามสงบดังนั้น ทัพเรือภาคที่ ๒ จึงได้ยึดถือการปฏิบัติกิจโดยมุ่งเน้นการปฏิบัติการลาดตระเวนทางทะเล การคุ้มครองช่วยเหลือเรือประมงไทย การคุ้มครองแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในทะเลการป้องกัน และปราบปรามการกระทำผิดในทะเล ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรือ การป้องกันการแทรกซึมลักลอบส่งคนและยุทโธปกรณ์ขึ้นสู่ฝั่ง ปราบปรามยาเสพติด การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล ตลอดจนการป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป้องกันและขจัดมลพิษในทะเลบริเวณชายฝั่ง จากแนวความคิดในการปฏิบัติข้างต้น ทัพเรือภาคที่ ๒ ได้กำหนดการปฏิบัติของหน่วยกำลังเพื่อให้บรรลุตามกิจที่ได้รับมอบดังนี้
๑. กำลังทางเรือ จัดเรือประเภทต่าง ๆ ออกลาดตระเวนเฝ้าตรวจ ในพื้นที่รับผิดชอบโดยเน้นบริเวณแนวเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปไทย - เวียดนาม (KC.LINE) ตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยทั่วไปจะจัดให้มีเรือในพื้นที่อย่างน้อยครั้งละ ๒ ลำ นอกจากนี้ทัพเรือภาคที่ ๒ ยังได้เตรียมกำลังทางเรือให้พร้อมอยู่ตลอดเวลาที่สามารถไปปฏิบัติกิจเร่งด่วน กรณีที่ได้รับคำสั่งจากหน่วยเหนือ หรือการปฏิบัติกิจพิเศษอื่น ๆ เช่น การถวายความปลอดภัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ การจัดหมู่เรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลอันจากเกิดพายุใต้ฝุ่นต่าง ๆ การจัดเรือสนับสนุนการขจัดคราบน้ำมันในทะเล ซึ่งเกิดรั่วไหลจากอุบัติเหตุเรือสินค้าโดนกัน หรือเกยหินโสโครก และการปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด
๒. กำลังอากาศนาวี จัดอากาศยานลาดตระเวนสนับสนุนการปฏิบัติการของเรือในพื้นที่รับผิดชอบ วันละ ๒ เที่ยวบิน รวมทั้งการจัดอากาศยานให้พร้อมในการปฏิบัติกิจพิเศษอื่น ๆ เช่น การรับผู้ป่วยจากเรือในทะเลนำมาส่งยังฝั่งในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น
๓. กำลังชุดปฏิบัติการพิเศษ จัดนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ปฏิบัติการสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ และการปฏิบัติการพิเศษตามที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งดำเนินการในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทะเล เช่น การวางทุ่นหมายเขต การฝึกอาสาสมัครนักดำน้ำเพื่องานอนุรักษ์ เป็นต้น
การปฏิบัติของกองเรือภาคที่ ๒ เท่าที่ผ่านมานับว่าสามารถปฏิบัติได้บรรลุตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี โดยสามารถยับยั้งไม่ให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจับยึดเรือประมงไทยในลักษณะโจรสลัดในเขตไหล่ทวีปของไทยได้ กับยังสามารถช่วยเหลือชาวประมงไทยที่ประสบภัยในพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างทันท่วงที ทำให้ชาวประมงเกิดความมั่นใจว่ากองทัพเรือสามารถให้ความคุ้มครองในการประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย
ทะเล เป็นแหล่งก่อเกิดวัฒนธรรมและอารยธรรมมาแต่ครั้งโบราณกาล เป็นแหล่งอาหาร และกิจกรรมร่วมกันของมวลมนุษยชาติจนก่อเกิดความรุ่งเรือง นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าที่สำคัญยิ่ง โดยประเทศไทยใช้การขนส่งสินค้าทางทะเลมากกว่าร้อยละ ๙๐ ของการขนส่งสินค้า เข้า - ออก ประเทศทั้งหมด ซึ่งเป็นหน้าที่ของกองทัพเรือที่จะรักษาเส้นทางลำเลียงสินค้าแห่งนี้ให้ปลอดภัยสามารถใช้ได้ตลอดเวลาตามที่ต้องการ ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอื่น ๆ ให้ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไปตราบนานเท่านาน กำลังพลของกองเรือภาคที่ ๒ กองเรือยุทธการ จะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันออกปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลตลอดเวลา ด้วยความสำนึกในภารกิจและหน้าที่อันสำคัญยิ่งที่ได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะเหนื่อยยาก ทุกข์เข็ญเพียงใด ก็จะไม่ย่อท้อ สิ่งเดียวทียึดมั่นประจำใจของเราคือ จะรักษาทะเลผืนนี้ไว้ ให้เป็นสมบัติของพี่น้องชาวไทยให้ตกถึงมือลูกหลานตลอดไป